บทความและสาระน่ารู้ในการปฏิบัติงานขนส่ง

การบริหารการเดินทาง (Journey Management)

08 Jan 2018
แชร์ :




นักขนส่งมืออาชีพทุกคนต้องมีความตระหนักในเรื่อง “การบริหารการเดินทาง” เนื่องจากการเดินทางคือส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการขนส่ง โดยหน้าที่ขั้นพื้นฐานของผู้ขนส่งมืออาชีพคือ “ความรับผิดชอบในการนำสินค้าของลูกค้าจากที่หนึ่งไปส่งยังอีกที่หนึ่งด้วยความปลอดภัย ตรงต่อเวลา รักษาคุณภาพและปริมาณสินค้าให้สมบูรณ์ดังเดิม ด้วยการบริการที่ประทับใจ ห่วงใยสังคมและสิ่งแวดล้อม และเคารพกฏหมาย

ขอบเขตของการเดินทางเริ่มตั้งแต่ออกจากหน่วยงานไปรับสินค้าเพื่อนำสินค้าไปยังสถานที่ส่งสินค้าตามที่ได้รับมอบหมายจนกระทั่งเดินทางกลับถึงหน่วยงาน โดยจะไม่กล่าวถึงกระบวนและขั้นตอนต่างๆในการรับและส่งสินค้าภายในโรงงานหรือสถานที่รับ-ส่งดังกล่าว

 

การบริหารการเดินทางที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้ผลตามที่ต้องการ จึงหมายถึง

1.   มีการสำรวจเส้นทางที่เป็นไปได้ระหว่างสถานที่รับ-ส่งสินค้าเพื่อเก็บข้อมูลของจุดอันตรายต่างๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในการขนส่ง เช่น สภาพถนน ทางโค้ง ทางลาดชัน ทางเบี่ยง สภาพการจราจร สะพาน สิ่งกีดขวาง แหล่งชุมชนที่ถนนพาดผ่าน ทางร่วม ทางแยก แสงสว่างและสภาพการณ์ตอนกลางคืน ข้อห้าม ข้อบังคับ ข้อกำหนดของกฏหมาย เป็นต้น และมีการนำข้อมูลเหล่านั้น มาวิเคราะห์และตัดสินใจเลือกเส้นทางหลัก-เส้นทางสำรองในการขนส่ง และจัดทำเป็นข้อกำหนดการใช้เส้นทางในการขนส่ง (Route Card)

2.   ต้องมีการกำหนดจุดพักรถที่ปลอดภัยระหว่างทางไว้ใน Route Card โดยจะต้องมีจำนวนเพียงพอและสอดคล้องกับข้อกำหนดเรื่องระยะเวลาในการขับขี่อย่างต่อเนื่องไม่เกิน 4 ชั่วโมง

3.   ต้องมั่นใจว่าพนักงานขับรถที่ได้รับมอบหมายงานขนส่งมีความรู้และประสบการณ์อย่างดีในการขับขี่อย่างปลอดภัยเชิงป้องกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพการณ์ที่เป็นจุดเสี่ยงอันตราย รวมถึงต้องได้รับการชี้แจงบอกกล่าวเรื่องข้อกำหนดการใช้เส้นทางในการขนส่งที่ถูกต้องก่อนออกเดินทางทุกเที่ยว

4.   ต้องมีระบบการตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานขับรถปฏิบัติตาม Route Card และข้อกำหนดต่างๆที่เกี่ยวข้องแบบ Real time และหากพบการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดต้องมีกระบวนการที่เชื่อมั่นได้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวจะได้รับการปรับปรุงแก้ไขอย่างเหมาะสมและทันเหตุการณ์และต้องมีกระบวนการทวนสอบความสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงเพื่อให้ Route Card มีความทันสมัยและเหมาะสมอยู่เสมอ

5.   ต้องมีการสรุปผลการบริหารเป็นประจำทุกเดือนเพื่อให้มั่นใจว่าผู้รับผิดชอบทุกส่วนยังธำรงรักษาระบบและปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งมีการกำหนดมาตรการเชิงป้องกันที่เหมาะสมหากพบว่ายังมีการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับข้อกำหนด

 

ที่นี้ ลองนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้กับ “การเดินทางของชีวิต” ดูบ้าง เราเคยถามตัวเองกันบ้างไหมว่าจุดหมายปลายทางของเราในวันพรุ่งนี้ สัปดาห์หน้า เดือนหน้า ปีหน้า อีก 5 ปีข้างหน้า หรือเมื่อเราอายุ 60 ปี เราจะไปที่ตรงไหน เราบริหารการเดินทางของชีวิตอย่างไร

 

  • เราสำรวจจุดอันตรายที่เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เราไปไม่ถึงจุดหมายหรือไม่ อย่างไร
  • เรานำจุดอันตรายเหล่านั้นมาวิเคราะห์ความเสี่ยงและวางแผนเชิงป้องกันอย่างไร
  • เรามีแผนที่นำทาง เส้นทางสู่จุดหมายอย่างไร มีจุดพักผ่อนหย่อนใจระหว่างทางมากเกินไปหรือป่าว
  • เรามั่นใจมากน้อยแค่ไหนว่าเรามีคุณสมบัติ คุณลักษณะ ขีดความสามารถเพียงพอที่จะไปถึงจุดหมายปลายทางได้สำเร็จด้วยความปลอดภัย
  • เราเดินทางตามแผนที่เส้นทางและวิธีการที่เรากำหนดไว้อย่างเคร่งครัดแค่ไหน ทำมากน้อยเกินไปหรือป่าว
  • เรามีการประเมินความเสี่ยงใหม่เป็นระยะๆ ตามสถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร
  • เรามีการทบทวนและปรับปรุงแผนการเดินทางของชีวิตเราให้ทันสมัยเสมอหรือไม่

 

ฝากไว้ให้คิดนะครับ หากชีวิตเรายังไม่มีการบริหารการเดินทางที่ดีแล้ว เราจะมาบริหารการเดินทางในงานขนส่งให้คนอื่นให้ดีได้อย่างไร?

 

ณัฐ นิวาตานนท์

กรรมการผู้จัดการ

บริษัท ดี.จี. ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด : ผู้ให้บริการขนส่งวัตถุอันตรายและเคมีภัณฑ์


บทความและสาระน่ารู้ในการปฏิบัติงานขนส่ง


ข่าวสารและกิจกรรม


ข้อคิดและหลักการบริหารเพื่อการพัฒนา



กฏหมายและข้อกำหนดของภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งวัตถุอันตราย





บริษัท ดี.จี.ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
D.G. Trans International Co., Ltd.

Contact us

Tel : 080-067-5236
E-mail : marketing@dgtrans.co.th

567 Moo 2, T. Bangpoo-Mai A. Muang Samutprakarn, Samutprakarn 10280
Copyright © 2017 All Rights Reserved. Designed By Golly-design