บทความและสาระน่ารู้ในการปฏิบัติงานขนส่ง

การวิเคราะห์อุบัติเหตุในงานขนส่งวัตถุอันตราย

21 Jan 2018
แชร์ :




เป้าหมายสำคัญในการบริหารงานขนส่งคือ “ความปลอดภัย” ซึ่งหมายถึง สภาวะที่ปราศจากอันตราย หรือมีความเสี่ยงไม่เกินกว่าระดับที่สามารถยอมรับได้  โดยต้องตระหนักถึงความคาดหวังของเจ้าของสินค้าที่ต้องการให้ผู้ขนส่งรักษาสภาพสินค้าให้ส่งถึงจุดหมายปลายทางโดยที่คุณภาพของสินค้าต้องไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีการปนเปื้อน ไม่มีการสูญหาย ตรงต่อเวลา ปฏิบัติงานตามขั้นตอนถูกต้องตามข้อตกลงและกฏหมาย

อย่างไรก็ตาม เราต้องตระหนักไว้เสมอว่า “อุบัติเหตุมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ” ตราบใดก็ตามที่เรายังไม่สามารถควบคุมเหตุสุดวิสัยได้ และคงไม่มีบริษัทขนส่งใดกล้าทำสัญญารับประกันว่าจะไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และเราต้องฉลาดพอที่จะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสโดยเปลี่ยนอุบัติเหตุที่ประสบให้เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าและเรียนรู้เป็นบทเรียนที่จะไม่ทำให้เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เรียกว่า “อุบัติเหตุ” นั้นเกิดซ้ำอีก

ดังนั้น บริษัท ดี.จี.ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จึงได้กำหนดกระบวนการบริหารจัดการ เรื่อง “การวิเคราะห์อุบัติเหตุเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ” ซึ่งมีขั้นตอนปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

1.  การรวบรวมข้อมูล

เมื่อเกิดอุบัติเหตุ การรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์อุบัติเหตุต้องเริ่มต้นตั้งแต่ จุดเกิดเหตุ ข้อมูลย้อนหลังก่อนเกิดเหตุ รวมถึงการสอบสวนพนักงานขับรถ

การเก็บข้อมูลและหลักฐาน ณ จุดเกิดเหตุ

ในการออกไประงับอุบัติเหตุ ณ จุดเกิดเหตุของทีมฉุกเฉิน นอกเหนือจากการแก้ไขสถานการณ์ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วและควบคุมให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมและชื่อเสียงของบริษัทให้น้อยที่สุดแล้ว สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันด้วย คือ การเก็บข้อมูลต่างๆ ณ จุดเกิดเหตุให้ครบถ้วน ทั้งวัตถุพยาน พยานบุคคล หลักฐานและร่องรอยต่างๆ พร้อมภาพถ่ายโดยละเอียด โดยบุคคลที่ทำหน้าที่ดังกล่าวต้องมีความรู้ มีประสบการณ์ มีนิสัยช่างสังเกต ช่างซัก ช่างถามและอยากรู้อยากเห็น นอกจากนั้น ยังต้องตรวจสอบด้านสุขภาพของพนักงานขับรถ ณ ขณะนั้นด้วยว่าอยู่ในอาการผิดปกติ มีฤทธิ์แอลกอฮอล์หรือสารเสพติดหรือไม่ รวมถึงการเก็บข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือย้อนหลังด้วย

การเก็บข้อมูลการปฏิบัติงานย้อนหลัง

การเก็บข้อมูลการปฏิบัติงานย้อนหลังและลำดับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นก่อนการเกิดอุบัติเหตุของพนักงานขับรถที่เกิดเหตุให้ครบถ้วนโดยข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการตรวสอบและสอบถามผู้เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • การปฏิบัติงานขนส่งย้อนหลังอย่างน้อย 7 วันเพื่อตรวจสอบชั่วโมงการทำงานและเวลาพักผ่อนว่ามีความเหมาะสมสอดคล้องตามข้อกำหนดหรือไม่
  • ประวัติการทำงานและการฝึกอบรมต่างๆ เพื่อตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติสอดคล้องตามข้อกำหนดในการปฏิบัติงานหรือไม่
  • ประวัติสุขภาพเพื่อตรวจสอบว่ามีโรคประจำตัวที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือไม่
  • การตรวจสอบพฤติกรรมการขับขี่ย้อนหลังในเที่ยวที่เกิดเหตุจากระบบ GPS กล้องวงจรปิด
  • การเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์เพื่อนร่วมงาน พนักงานขับรถที่ร่วมเดินทางไปด้วย

การสอบสวนพนักงานขับรถ

การสอบสวนพนักงานขับรถที่เกิดเหตุควรดำเนินการให้เร็วที่สุดหลังจากได้รับข้อมูลอ้างอิงข้างต้นครบถ้วนแล้ว เพื่อเป็นการทวนสอบความถูกต้องของคำให้การของพนักงานขับรถด้วย

2.  การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแยกแยะเหตุปัจจัย

ในขั้นตอนนี้จะต้องดำเนินการร่วมกันโดยคณะทำงานร่วมอย่างน้อย 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายพัฒนาระบบคุณภาพ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย และฝ่ายวิศวกรรม ร่วมกันพิจารณาข้อมูลที่ได้รับทั้งหมดมาแยกแยะเป็นกลุ่มๆ ตามเหตุปัจจัยต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้อง วิธีสากลที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์แยกแยะข้อมูลคือ แผนผังก้างปลา หรือ Fish Bones Diagram เพื่อค้นหาว่ามีเหตุปัจจัยใดบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้องทำให้เกิดอุบัติเหตุ โดยก้างปลาหลักได้แก่ คน รถขนส่ง สภาพแวดล้อม การบริหารจัดการ และ เอกสารที่ใช้งานในระบบ โดยใช้เทคนิคการตั้งคำถาม “ทำไม” ให้มากที่สุดในทุกหัวข้อเพื่อให้ทราบที่มาที่ไปอย่างแท้จริง

3.  การสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อสรุปหาสาเหตุ

ในขั้นตอนนี้เราต้องนำเหตุปัจจัยต่างๆ ที่แยกแยะได้ทั้งหมดมารวบรวมเป็นข้อสรุปหา สาเหตุ ณ ขณะนั้น สาเหตุรองและสาเหตุหลัก ผลพลอยได้จากขั้นตอนนี้คือ ข้อสรุปว่าใครผิดใครถูก

4.  การกำหนดมาตรการป้องกัน

มาตรการป้องกันต้องมุ่งเน้นไปที่การกำจัดสาเหตุที่แท้จริงและเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาตามที่สรุปจากขั้นตอนการวิเคราะห์และการสังเคราะห์ข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น

ประเด็นปัญหา : สินค้าล้นถังในขณะที่มีการลงสินค้า

สาเหตุ ณ ขณะนั้น : พนักงานขับรถละเลยไม่ตรวจสอบระดับสินค้าคงเหลือในถังบรรจุสินค้าของสถานที่ส่งสินค้าก่อนลงสินค้า ทั้งๆ ที่รู้ว่าต้องตรวจสอบก่อน

มาตรการป้องกัน : พนักงานขับรถต้องแจ้งปริมาณสินค้าคงเหลือในถังให้หัวหน้างานรับทราบก่อนลงสินค้าทุกครั้ง

หลายครั้งที่เราเลือกใช้การฝึกอบรมเป็นมาตรการป้องกันซึ่งมักไม่ได้ผลเพราะส่วนใหญ่รากเหง้าไม่ได้เกิดจาก ความไม่รู้ แต่เป็น “ความไม่รู้ไม่ชี้” หรือ “ความมักง่าย” ของคนมากกว่า

5.  การจัดทำแผนดำเนินการ

การนำมาตรการป้องกันไปจัดทำเป็นแผนดำเนินการภาคปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลสำเร็จได้จริง โดยจะต้องนำไปผ่านกระบวนการที่เรียกว่า การบริหารการเปลี่ยนแปลง หรือ Management of Change เสียก่อน ด้วยการเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาร่วมกันศึกษาข้อดี-ข้อจำกัด ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นก่อนนำไปกำหนดเป็นแผนปฏิบัติการต่อไป

6.  การปฏิบัติตามแผน

เริ่มต้นจากการนำแผนปฏิบัติการไปสื่อสาร ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้ที่มีหน้าที่กำกับดูแล ควบคุมและผู้ที่ต้องปฏิบัติตามรับทราบและเข้าใจในวัตถุประสงค์รวมถึงความคาดหวังในผลลัพธ์ที่ต้องการ

7.  การติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน

กำหนดให้ฝ่ายพัฒนาระบบคุณภาพ ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยมีหน้าที่ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานว่าสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำได้จริงหรือไม่ พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามที่ต้องการ

8.  การสรุปผล

ฝ่ายพัฒนาระบบคุณภาพ ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยมีหน้าที่สรุปและรายงานผลการดำเนินงานต่อกรรมการผู้จัดการในที่ประชุมคณะกรรมการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยทุกเดือน

 

ณัฐ นิวาตานนท์

กรรมการผู้จัดการ

บริษัท ดี.จี.ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

ผู้ให้บริการขนส่งวัตถุอันตรายและเคมีภัณฑ์


บทความและสาระน่ารู้ในการปฏิบัติงานขนส่ง


ข่าวสารและกิจกรรม


ข้อคิดและหลักการบริหารเพื่อการพัฒนา



กฏหมายและข้อกำหนดของภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งวัตถุอันตราย





บริษัท ดี.จี.ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
D.G. Trans International Co., Ltd.

Contact us

Tel : 080-067-5236
E-mail : marketing@dgtrans.co.th

567 Moo 2, T. Bangpoo-Mai A. Muang Samutprakarn, Samutprakarn 10280
Copyright © 2017 All Rights Reserved. Designed By Golly-design