เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งในการคิดคือ “การคิดหาคำตอบประกอบการตัดสินใจ” และสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดคือ “ความเห็น” ซึ่งเป็นภาพรวมของความเชื่อที่สั่งสมมาจากประสบการณ์ในอดีตของแต่ละคน ที่หล่อหลอมรวมกันจนเกิดเป็นภาพที่เห็นด้วยใจและใช้เป็นบรรทัดฐานสำคัญในการคิด ที่เรามักเรียกว่า “ทัศนคติ”
การคิดเพื่อหาคำตอบใดคำตอบหนึ่ง อาจต้องใช้การคิดหลายรูปแบบประกอบกัน เช่น การคิดเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาที่ซับซ้อน อาจต้องใช้การคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ การคิดประยุกต์ การคิดเปรียบเทียบ การคิดสร้างสรรค์ การคิดเป็นภาพ การคิดบูรณาการ การคิดแนวข้าง การคิดบวก และการคิดอื่นๆ อีกมากมายประกอบกันจึงจะได้คำตอบ
คำตอบที่ได้รับจากการคิดจะแสดงผลออกมาเป็นการกระทำใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกทางวาจาหรือกริยาท่าทางหรือพฤติกรรมต่างๆ ให้ผู้อื่นรับรู้และสัมผัสได้ก็ต่อเมื่อมีการตัดสินใจลงมือทำ ดังนั้น การคิดขั้นสุดท้ายเพื่อนำคำตอบมาประกอบการตัดสินใจจึงถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดของกระบวนการทางความคิด ที่เราควรใช้ทั้งสติและปัญญา พิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ เพื่อให้แน่ใจว่าคำตอบนั้นเป็นข้อเท็จจริงและมีเหตุผลก่อนตัดสินใจ ที่เราเรียกว่า การคิดอย่างมีวิจารณญาณ หรือ Critical Thinking
ในแต่ละวันของชีวิต เรามีเรื่องราวมากมายหลายร้อยเรื่องที่ต้องคิดและตัดสินใจ ถ้าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้มีความสำคัญเร่งด่วน เช่น กินอะไรดี ใส่เสื้อผ้าชุดไหนดี ไปเที่ยวที่ไหนดี อย่างนี้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้วิจารณญาณในการคิดมากนัก
แต่ถ้าเป็นเรื่องสำคัญในชีวิต เช่น วางแผนการทำงานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ เตรียมข้อมูลนำเสนออย่างไรให้ลูกค้าประทับใจ หรือ ต้องใช้วิธีแก้ปัญหาอย่างไรถึงจะไม่เกิดซ้ำอีก การตัดสินใจในเรื่องเหล่านี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้การคิดอย่างมีวิจารณญาณเข้ามาช่วย
ดังนั้น เพื่อให้การตัดสินใจในชีวิตมีโอกาสผิดพลาดน้อยลง ผมจึงขอแนะนำให้ใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีกสักนิดก่อนตัดสินใจลงมือทำ ดังนี้
1. ทบทวนให้มั่นใจว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้นเป็นข้อเท็จจริง ไม่ควรเชื่อข้อมูลประเภท เขาเล่าว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ส่งกันมาทางไลน์หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ และขอแนะนำให้ยึด “กาลามสูตร” คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแนวทางก่อนเชื่อว่าข้อมูลเหล่านั้นเป็นความจริง
2. ก่อนตัดสินใจทุกเรื่อง ขอให้ถามตัวเองอีกสักครั้งว่า “จะทำสิ่งนั้นไปเพื่ออะไร” ผลดี ผลเสียที่จะได้รับตามมามีหรือไม่ อย่างไร ถ้าได้มิตรเพิ่มก็ควรทำ ถ้าได้ศัตรูเพิ่มก็ไม่ควรทำ ทำแล้วควรได้ความสบายใจ ไม่ใช่ความสะใจ
3. มีสติรู้เท่าทันความรู้สึกและอารมณ์ของตัวเอง อย่าปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผลในขณะที่กำลังพิจารณาตัดสินใจทุกครั้ง ห้ามตัดสินใจเด็ดขาดถ้าหากอารมณ์ขุ่นมัวหรือเศร้าหมอง
4. ถ้าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนและสำคัญจริงๆ อย่ารีบด่วนตัดสินใจ ยิ่งถ้ายังมีเวลาเหลือให้ใช้ จงใช้เวลาที่เหลืออยู่ทบทวนหรือถ้าเป็นไปได้ ให้เก็บไว้คิดอีกสักวัน หากวันรุ่งขึ้นยังคิดเหมือนเดิมค่อยตัดสินใจ
5. คนเราไม่จำเป็นต้องตัดสินใจด้วยตัวเองทุกเรื่อง ควรขอคำปรึกษาผู้รู้ที่เราไว้ใจและเชื่อถือซึ่งจะทำให้เราได้มุมมองที่แตกต่างเพราะคนเรามักคิดเข้าข้างตัวเองเสมอ
ปัญหาและความขัดแย้งมากมายที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้ มีรากเหง้ามาจากความใจร้อนและเจ้าอารมณ์ของคน ทำให้ขั้นตอนการคิดอย่างมีวิจารณญาณขาดหายไปพร้อมกับสติที่แตกซ่าน และผมเชื่อว่าทุกคนคงเคยมีประสบการณ์กันมาบ้างไม่มากก็น้อย ทั้งที่เสียใจที่ไม่น่าตัดสินใจทำบางอย่างลงไป หรือเคยขอบคุณตัวเองที่ไม่ได้ตัดสินใจทำบางสิ่งบางอย่างในตอนนั้น
มาช่วยกันรณรงค์การคิดอย่างมีวิจารณญาณกันตั้งแต่วันนี้ดีกว่า โดยเริ่มที่ตัวเราก่อนแล้วค่อยๆ ช่วยกันสอนคนรอบข้าง แล้วทุกอย่างจะค่อยๆ ดีขึ้นเองครับ
ณัฐ นิวาตานนท์
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ดี.จี. ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ผู้ขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตรายมืออาชีพ