คำว่า Passion (แพสชั่น) มักถูกนำมาใช้ในความหมายว่า ความหลงใหล และเมื่อเรามีแพสชั่นกับสิ่งใด เรามักจะมีความพยายามที่จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จมากขึ้นเป็นพิเศษ แบบว่าไม่ได้เงินก็จะทำหรือจะต้องจ่ายเงินเท่าไหร่ก็ยอม ความหลงใหลจึงมักถูกนำไปใช้กับเรื่องรักใคร่เสน่หา แต่ในปัจจุบันเรานิยมนำแพสชั่นมาใช้เชื่อมโยงกับเรื่องการทำงานเพราะเชื่อว่า “ความหลงใหลในงานที่ทำ จะส่งผลดีต่องานอย่างแน่นอน”แพสชั่นสอดคล้องกับหลักธรรมในหัวข้อ อิทธิบาท 4 ที่สอนว่า ถ้าต้องการจะทำสิ่งใดให้สำเร็จ ก็ต้องเริ่มต้นที่ฉันทะ หรือ “ความชอบในสิ่งนั้น” ก่อนเสมอ ยิ่งชอบมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้เกิดความมุ่งมั่นตั้งใจและมีความอุตสาหะพากเพียรมากขึ้นเท่านั้น
เมื่อนำเอาแพสชั่นมาเชื่อมโยงกับหลักการบริหารจัดการ Plan Do Check Act หรือ PDCA ก็ยิ่งทำให้เข้าใจได้กระจ่างขึ้นว่า หากไม่มีแพสชั่นในงานที่ทำแล้ว พลังขับเคลื่อนที่จะทำให้เกิดกระบวนการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพย่อมไม่เกิดขึ้นหรือถ้ามีก็น้อยมาก ยิ่งเป็นงานที่ถูกบังคับให้ทำและไม่ชอบด้วย จึงทำให้วงจรที่ดูเหมือนว่าน่าจะนำไปปฏิบัติตามได้ง่ายๆ จึงใช้ไม่ได้ผลสำหรับคนบางคน
คนที่รู้ตัวเองว่ามีแพสชั่นในเรื่องใดตั้งแต่เด็ก ย่อมมีโอกาสได้วางแผนพัฒนาความรู้และฝึกฝนทักษะของตนให้มีความสามารถในเรื่องนั้นได้โดดเด่นเหนือคนอื่น ทำให้เลือกเรียนในสาขาวิชาชีพได้ตามความถนัดของตนอย่างแท้จริงและย่อมมีผลการเรียนที่ดีกว่าคนอื่นแน่นอน และเมื่อจบการศึกษาออกมาก็หางานทำได้ง่ายและได้งานที่ใช่โดยบริษัทผู้ว่าจ้างก็เต็มใจจ้างด้วยค่าตอบแทนที่ดีเพราะอยากได้คนแบบนี้มาทำงานด้วยอยู่แล้ว แต่น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้รู้จักตัวเองตั้งแต่เด็กว่ามีแพสชั่นในเรื่องใด บางคนต้องทำงานตั้งหลายปีกว่าจะเริ่มมีแพสชั่นกับงานที่ทำเพราะถือคติว่า “ถ้าไม่ได้ทำงานที่รัก ก็จงรักงานที่ทำ” แต่บางคนต้องฝืนทนทำมาตั้งหลายสิบปีก็ยังไม่มีแพสชั่นกับงานที่ทำอยู่ดี ผลงานเลยไม่โดดเด่นเพราะทำงานไปวันๆ จึงไม่มีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
ความพยายามที่จะทำให้พนักงานทุกคนมีแพสชั่นในงานที่ได้รับมอบหมายจึงเป็นเรื่องท้าทายความสามารถของฝ่ายบริหารในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลขององค์กร เพราะเราต้องยอมรับความจริงว่าพนักงานส่วนใหญ่ไม่ได้มีใจรักในงานที่เรามอบหมายให้เขาทำตั้งแต่วันแรกที่มาเริ่มงาน
วิธีการที่พอจะช่วยได้คือ ผู้บริหารองค์กรจะต้องทำให้พนักงานทุกคนมีความภาคภูมิใจในบทบาทหน้าที่ของตนและต้องทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าของผลงานที่ทำได้สำเร็จ โดยจะต้องอธิบายให้เห็นเป็นภาพได้อย่างชัดเจนว่าผลงานของพวกเขาเชื่อมโยงเข้ากับเป้าหมายความสำเร็จขององค์กรอย่างไร
การบริหารองค์กรแบบมีส่วนร่วมจะทำให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมตัดสินใจและเมื่อทำได้สำเร็จ มันจะช่วยทำให้ทุกคนมีความรู้สึกภาคภูมิใจร่วมกัน ซึ่งความรู้สึกภาคภูมิใจและมีส่วนร่วมที่ได้รับจากประสบการณ์แบบนี้บ่อยๆ มีโอกาสหล่อหลอมให้พนักงานเกิดความรู้สึกรักและผูกพันใจกับองค์กรจนกลายเป็นแพสชั่นต่องานได้ในที่สุด
ณัฐ นิวาตานนท์
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ดี.จี. ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ผู้ขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตรายมืออาชีพ