ความรู้สึกห่วงใย วิตก กังวล ฟุ้งซ่าน รำคาญ ลังเล สงสัย อาฆาต โกรธแค้น ท้อแท้ เบื่อหน่ายและเศร้าซึม ความรู้สึกเหล่านี้หากเกิดขึ้นในใจเมื่อไหร่จะทำให้อารมณ์ของเราขุ่นมัว เศร้าหมอง หรือที่เรามักเรียกรวมๆ ว่า ความไม่สบายใจ
หากมองให้ลึกลงไปในความรู้สึกเหล่านั้น เราจะพบว่ามันมีความกลัวบางอย่างแอบแฝงอยู่ไม่ว่า กลัวจน กลัวอ้วน กลัวด้อยกว่าคนอื่น กลัวเสียหน้า กลัวผี กลัวแพ้ กลัวลำบาก กลัวเจ็บป่วย กลัวตาย กลัวผลลัพธ์จะไม่เป็นไปตามที่เป้าหมายที่ต้องการและกลัวอื่นๆ อีกมากมาย
ความกลัวบางอย่างอาจทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจนิดหน่อย เช่น เดินตากฝนมากลัวเป็นไข้ รถติดมากกลัวกลับบ้านไม่ทันดูละครออเจ้า แต่ถ้าผลการตรวจสุขภาพออกมาแย่ไปหมด ทั้งไขมัน ความดัน เบาหวานแถมด้วยโรคตับ โรคไต โรคอ้วน อาจทำให้เราเกิดความรู้สึกไม่สบายใจมากจนเครียดเพราะมีความกลัวตายอยู่เบื้องหลัง
แต่ถ้าพิจารณาให้ดี ความกลัวไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ความกลัวเป็นตัวกระตุ้นให้คนเราเกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าความอยาก ความกลัวอาจทำให้เราไม่สบายใจ แต่ความไม่สบายใจจะทำให้เราพยายามหาวิธีจัดการบางอย่างเพื่อให้ความไม่สบายใจเหล่านั้นออกไปจากใจ และมีตัวอย่างให้เห็นมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่องสุขภาพ ถ้าผลตรวจสุขภาพออกมาไม่ดี ความกลัวตายจะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินอยู่ของคนๆ นั้นได้อย่างสิ้นเชิง
ดังนั้น หากเราต้องการความสบายใจอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เงิน สุขภาพ สังคมหรือสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา เราจึงควรรู้วิธีจัดการกับความไม่สบายใจ ดังนี้
1. มองความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นเหมือนปัญหาๆ หนึ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขและต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ พึงระลึกไว้เสมอว่าต้นเหตุของความไม่สบายใจก็คือ ความรู้สึกกลัว ที่เราต้องค้นหาให้เจอ
2. แยกสิ่งที่กลัวออกมาจากความกลัวโดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีผลกระทบ กับ กลุ่มที่ไม่มีผลกระทบ ต่อเป้าหมายความสำเร็จในชีวิต ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีเป้าหมายต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจฟาร์มเลี้ยงไก่ ความกลัวที่มีผลกระทบคือ กลัวเจ๊ง กลัวเหนื่อย กลัวความรับผิดชอบ หรือกลัวบาป แต่ถ้ากลัวผี กลัวตุ๊กแก กลัวความสูง ก็คงไม่เป็นไร
3. ให้สนใจเฉพาะสิ่งที่กลัวที่มีผลกระทบต่อเป้าหมายความสำเร็จของชีวิต โดยถามตัวเองว่ากลัวสิ่งเหล่านั้นเพราะเหตุใด ตอบตามความเป็นจริงโดยไม่สนใจว่าจะสมเหตุสมผลหรือไม่
4. จงตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะเปลี่ยนความกลัวเป็นความกล้าให้สำเร็จ ด้วยการลงมือทำสิ่งที่กลัวนั้นทันที ใช้วิจารณญาณไตร่ตรองและค่อยๆ ฝึกฝนจนกลายเป็นความมั่นใจ ท้อได้แต่ห้ามถอยเด็ดขาด
5. ต้องเข้าใจว่า คนกล้า กับ คนบ้า นั้นแตกต่างกัน เพราะคนกล้า คือคนที่ทำในสิ่งที่กลัวด้วยสติปัญญาอย่างระมัดระวังและอดทน ต่างจากคนบ้าที่กล้าทำในสิ่งที่น่ากลัวด้วยความประมาทและขาดสติ
ความสบายใจของคนเรา บางครั้งเกิดขึ้นบนความไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นไม่รู้จริงคือคิดว่าตัวเองเตรียมตัวป้องกันปัญหาไว้ดีแล้ว หรือไม่รู้จริงๆ คือคิดว่าตัวเองไม่มีปัญหา หรือไม่รู้ไม่ชี้คือรู้ทั้งรู้ว่าตัวเองมีปัญหาแต่ก็ไม่ได้ทำอะไรเพื่อเป็นการแก้ไขป้องกันไว้เลย
ความสุขและความสบายใจ คือ เป้าหมายสูงสุดในชีวิตของทุกคน เมื่อใดที่รู้สึกไม่สบายใจ ความสุขและความสบายใจย่อมไม่เกิดขึ้น ฉะนั้น ต้องเรียนรู้ที่จะชนะใจตัวเองด้วยการเปลี่ยน “ความกลัว” ให้เป็น “ความกล้า” ดีกว่าแพ้ใจตัวเอง แล้วอ้างว่า “ไม่กล้า” เพราะ “ความกลัว”
ณัฐ นิวาตานนท์
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ดี.จี. ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ผู้ขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตรายมืออาชีพ