ปัญหา
เหตุการณ์ใดๆ ก็ตาม เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้เรารู้สึกไม่พอใจ รับไม่ได้ ทนได้ยาก อึดอัด หรือเรียกรวมๆ ว่าไม่สบายใจ เรามักเรียกเหตุการณ์นั้นว่า “ปัญหา” และขนาดของปัญหาจะผันแปรตามขนาดของความไม่สบายใจที่เกิดขึ้น บางคนอาจมีมุมมองต่อเหตุการณ์หนึ่งว่าเป็นปัญหา ในขณะที่อีกหลายๆ คนอาจมองเหตุการณ์เดียวกันว่าไม่เป็นปัญหาก็ได้ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้การตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของคนแต่ละคนแตกต่างกัน
การแก้ไขปัญหาจึงต้องเริ่มต้นจากการรับรู้ว่าตัวเองกำลังมีปัญหาเสียก่อน ร่างกายของคนเราอาจมีกลไกบางอย่างที่ช่วยให้รับรู้ปัญหาได้เหมือนๆ กัน เช่น ความรู้สึกหิว ง่วง ปวดท้อง ปวดหัว ร้อน หนาว จนทนไม่ไหว แต่การรับรู้ปัญหาในการดำเนินชีวิตอีกหลายอย่างมากมายที่ผุดขึ้นในใจเป็นสิ่งที่แต่ละคนมีกลไกการรับรู้ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับทัศนคติและประสบการณ์ในอดีตของแต่ละคน
แม้ว่าการรับรู้ว่าตัวเองกำลังมีปัญหาจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ แต่วิธีการตอบสนองต่อปัญหาเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าและมุมมองที่มีต่อปัญหาคือตัวกำหนดชะตาชีวิต บางคนมองปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความท้าทาย เป็นโอกาสที่จะได้ความรู้เพิ่มพูนสติปัญญา เป็นการได้บทเรียนชีวิตที่จะทำให้เกิดความผิดพลาดน้อยลงในอนาคต จึงทำให้สนุกกับการแก้ปัญหา แต่บางคนอาจมองปัญหาเป็นเรื่องน่าเบื่อ น่ารำคาญ และน่ากลัว จึงทำให้หลีกเลี่ยงปัญหาด้วยการดำเนินชีวิตในกรอบแคบๆ อยู่ในมุมสบาย ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำสิ่งใหม่ๆ และไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง
ปัญหาทุกปัญหาแก้ไขได้เสมอถ้าเรารู้สาเหตุ และสาเหตุของปัญหาสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ สาเหตุที่ควบคุมไม่ได้ กับ สาเหตุที่ไม่ได้ควบคุม และเราควรใช้การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนที่จะด่วนสรุปว่าเป็นสาเหตุที่ควบคุมไม่ได้เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราคิดว่ามันควบคุมไม่ได้ เราก็จะหยุดคิดหาวิธีแก้ไขเชิงป้องกันต่อไปทันที
การควบคุมความรู้สึกไม่ให้เกิดเป็นอารมณ์โกรธ ฉุนเฉียว แค้นเคือง อาฆาตพยาบาท หรือขาดสติ เมื่อเกิดปัญหาเป็นสิ่งสำคัญเพราะ การตอบสนองต่อปัญหาด้วยสติ สมาธิและอารมณ์ที่ดีจะช่วยทำให้เกิดปัญญา นำความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ที่เคยมีมาใช้ได้อย่างเต็มที่ และช่วยทำให้การประสานงานขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นเป็นไปอย่างราบรื่นและเต็มใจ
การละเลยหรือมองข้ามปัญหาทั้งๆ ที่รับรู้แล้วว่าเกิดปัญหา เป็นปัญหาที่พบบ่อยในสังคมเนื่องจากคนเหล่านั้นชอบคิดว่าถ้าพยายามแก้ปัญหาแล้วอาจเกิดผลกระทบที่เลวร้ายต่อตัวเองมากกว่าการไม่แก้ปัญหา จึงเลือกที่จะอยู่เฉยๆ แต่ก็อาจมีบางคนที่ไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองกำลังมีปัญหาและเมื่อได้รับผลกระทบด้านลบในชีวิตก็มักจะโทษโชคชะตา ฟ้าลิขิตโดยไม่ได้มองย้อนกลับมาที่ตัวเองที่เป็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา
ดังนั้น การรับรู้ปัญหา ทัศนคติที่มีต่อปัญหาและวิธีการตอบสนองต่อปัญหาจึงเป็นคุณลักษณะและทักษะที่สำคัญในการคัดเลือกคนเข้ามาทำงานหรือเมื่อต้องการมอบหมายหน้าที่ให้เป็นหัวหน้างาน เป็นผู้จัดการหรือเป็นผู้บริหาร ยิ่งหน้าที่ความรับผิดชอบสูงเท่าไหร่ ยิ่งต้องการคนที่มีทักษะดังกล่าวสูงเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นผู้นำองค์กร ที่นอกจากจะต้องเป็นต้นแบบที่ดีแล้ว ยังต้องรู้จักวิธีสอนให้ลูกน้องปฏิบัติตามได้อีกด้วย
ปัญหาสำคัญในการทำงานของคนไทยส่วนใหญ่คือ การไม่นำสิ่งเรียนรู้ที่ได้รับจากปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมาสร้างเป็นองค์ความรู้ไว้เป็นบทเรียนให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เราไม่ได้ถูกสอนให้บันทึกปัญหาและวิธีแก้ไขไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเก็บไว้ถ่ายทอดสอนงาน เราอาจมองว่าสิ่งเหล่านั้นคือสุดยอดความลับที่ต้องเก็บไว้เป็นความได้เปรียบในการแข่งขันของตัวเอง เราจึงมักเกิดปัญหาซ้ำซาก ซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้วต้องมาเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ตลอดเวลา
ณัฐ นิวาตานนท์
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ดี.จี. ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ผู้ขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตรายมืออาชีพ