ศักดิ์ศรี
การปกครองในสังคมไทยมีระบบเจ้าขุนมูลนายที่ถูกหล่อหลอมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีการแบ่งระดับชั้นการปกครองไว้หลายระดับ แต่ละระดับนอกจากจะบ่งบอกถึงหน้าที่ความรับผิดชอบแล้ว ยังมีนัยสำคัญเรื่องเกียรติยศศักดิ์ศรีของคนๆ นั้นอีกด้วย ผู้ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าจึงถูกคาดหวังให้มีความเคารพยำเกรงต่อผู้ที่อยู่ในระดับสูงกว่าด้วยการแสดงออกอย่างนอบน้อมพินอบพิเทา กริยาท่าทางและการพูดจาต้องสุภาพเรียบร้อยพร้อมด้วยสร้อยสรรพนามที่ใช้ จะต้องบ่งบอกถึงการให้เกียรติ เช่น การเรียกคุณ เรียกท่าน เห็นด้วยครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน
ในขณะเดียวกัน ผู้ที่อยู่ในระดับสูงกว่า นอกจากความคาดหวังที่จะได้รับการแสดงออกจากผู้น้อยในลักษณะดังกล่าวแล้ว ยังมักถูกหล่อหลอมให้เชื่อว่าตนเองต้องแสดงกริยาท่าทางและคำพูดที่บ่งบอกถึงความเป็นเจ้านายให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย และยังมีการใช้สรรพนามที่ทำให้เห็นช่องว่างระหว่างระดับชั้นได้อย่างชัดเจนอีก เช่น กู-มึง เอ็ง-ข้า คุณ-ผม ท่าน-กระผม ฉัน-เธอ จึงทำให้เราสามารถสังเกตได้โดยง่ายว่ากลุ่มคนในสังคมที่กำลังมีการพูดคุยสนทนากันอยู่นั้น มีความสัมพันธ์กันเช่นไร มากน้อยแค่ไหน ใครมีศักดิ์ศรีเหนือกว่าใคร
วัฒนธรรมดังกล่าวถูกปลูกฝังจากสังคมหน่วยที่เล็กที่สุดคือ ในครอบครัว ในโรงเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย ในที่ทำงานไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการหรือเอกชน หรือแม้กระทั่งในสังคมที่คนไทยถูกสอนให้ต้องมีความเคารพยำเกรงต่อพ่อแม่ เชื่อฟังครูบาอาจารย์ นับถือผู้ที่มียศถาบรรดาศักดิ์ และให้เกียรติผู้ที่มีอาวุโสสูงกว่า ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ดีและเป็นเอกลักษณ์ที่สมควรรักษาสืบทอดต่อไป
ความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไทยที่หล่อหลอมมาอย่างยาวนานจนเป็นวัฒนธรรมในสังคมจึงเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาไตร่ตรองให้เข้าใจแจ่มแจ้งก่อนว่าต้องการเปลี่ยนแปลงเพราะเหตุใด สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาเกิดจากวัฒนธรรมดังกล่าวหรือไม่ ดังนั้น การเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมอาจเป็นสิ่งท้าทายที่ควรทำมากกว่า เพื่อให้เป้าหมายที่เราต้องการบรรลุผลสำเร็จ ภายในกรอบของความถูกต้องเหมาะสม ไม่ผิดกฏหมาย ไม่ขัดต่อศีลธรรมและประเพณีอันดีงามของสังคมไทย
ในสังคมที่ทำงานปัจจุบัน เราจะพบว่ามีหัวหน้ามากมายที่อายุน้อยกว่าลูกน้อง แต่การที่จะทำให้ลูกน้องที่อาวุโสกว่ายอมรับด้วยความเต็มใจ นอกจากหัวหน้าต้องเก่งงานแล้ว ยังต้องเก่งคนด้วยความเข้าใจวัฒนธรรมไทยที่ต้องรู้จักให้เกียรติผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่าด้วยการใช้กริยาท่าทางและคำพูดที่เหมาะสม การใช้สรรพนามเรียก พี่ ลุง ป้า น้า อา จึงอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี นอกเหนือจากวิธีการสอนงานหรือการตำหนิเมื่อทำผิดที่ต้องไม่ทำให้เขารู้สึกเสียหน้าหรือเสียศักดิ์ศรี
ความขัดแย้งระหว่างเพื่อนร่วมงานในระดับเดียวกันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานสะดุดไม่น้อยไปกว่าความขัดแย้งระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องในสายงานเดียวกัน แต่เราควรมองว่าความขัดแย้งจากความคิดต่างเป็นเรื่องที่ดีและสร้างสรรค์โอกาสให้เกิดทางเลือกที่ดีที่สุด แต่จะเป็นปัญหาที่สุดหากผู้นำไม่มีศิลปะในการบริหารความขัดแย้งนั้น เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดต่อองค์กรโดยไม่ทำให้ใครรู้สึกเสียหน้าหรือเสียศักดิ์ศรีซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในสังคมไทย
การให้เกียรติซึ่งกันและกันในที่ทำงานจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเพื่อจะทำให้การทำงานร่วมกันในองค์กรเป็นไปอย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพและได้ผลงานตามที่ต้องการ อย่าปล่อยให้คนไทยถูกล้อเลียนจากทั้งจากคนไทยด้วยกันเองและชาวต่างชาติว่าเราทำงานเป็นทีมไม่เป็น ทีมไม่เวอร์คซึ่งหนึ่งในรากเหง้าที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวคือ การไม่เคารพในศักดิ์ศรีของคนไทยด้วยกัน นั่นเอง
ณัฐ นิวาตานนท์
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ดี.จี. ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ผู้ขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตรายมืออาชีพ
ท่านผู้อ่านสามารถติดตามรับชมบทความนี้ในรูปแแบบ VDO ได้ตาม Link ข้างล่างนี้ครับ