องค์ความรู้
การค้นหาข้อมูลในเรื่องที่เราสนใจในยุคนี้ทำได้ง่ายมาก และวิธีที่คนไทยเรานิยมมากที่สุดก็คือ การค้นหาในกูเกิลซึ่งข้อมูลที่ได้รับจะมีมากมายอ่านกันไม่หวาดไม่ไหว ยิ่งถ้าใช้ภาษาอังกฤษในการค้นหา ยิ่งช่วยทำให้เราได้รับข้อมูลเพิ่มขึ้นอีกมากมายมหาศาลเพราะข้อมูลมันจะมาจากทั่วทุกมุมโลก เราจึงสมควรขอบคุณนักวิชาการ ครูบาอาจารย์ นักวิจัย นักคิด นักเขียน ทุกสาขาวิชา ที่ทุกท่านได้ช่วยกันบันทึกข้อมูลเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้าและนำเอาข้อมูลเหล่านั้นไปเป็นความรู้ ไปใช้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในการขับเคลื่อนให้องค์กรธุรกิจ สังคม ประเทศชาติและโลกของเราเจริญก้าวหน้ามาจนถึงทุกวันนี้
การนำความรู้หลากหลายที่ได้รับ มาคิดวิเคราะห์ผ่านจินตนาการแล้วนำมาบูรณาการให้เป็นความรู้ใหม่ในระดับที่สูงขึ้น เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้นและบันทึกไว้ให้คนอื่นได้ศึกษาต่อยอดเพื่อไม่ให้สูญหายหรือตายไปพร้อมกับตัวบุคคลจึงเป็นกระบวนการสำคัญในการสร้าง “องค์ความรู้” ซึ่งองค์กรธุรกิจหลายแห่งได้นำเอาแนวทางดังกล่าวมาใช้ในการเก็บรักษาองค์ความรู้ขององค์กร สร้างเป็นระบบบริหารคุณภาพ
องค์กรธุรกิจ หน่วยงาน หรือประเทศใดก็ตาม จะเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้ ย่อมขึ้นอยู่กับองค์ความรู้ที่องค์กรเหล่านั้นมีสะสมไว้ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดของกระบวนการสร้างองค์ความรู้คือ “คน” ที่นอกจากจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญเป็นอย่างดีแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่พร้อมจะแบ่งปันองค์ความรู้เหล่านั้นให้แก่ผู้อื่นด้วย ซึ่งจุดเริ่มต้นย่อมมาจากมุมมองและวิสัยทัศน์ของผู้นำ ที่จะต้องมองเห็นความสำคัญของกระบวนการสร้างองค์ความรู้ในองค์กรก่อนเป็นลำดับแรก
องค์กรที่ประสบความสำเร็จทุกแห่ง ต่างให้ความสำคัญกับการสรรหาคัดเลือกคนเก่งเข้ามาร่วมงาน และมีเป้าหมายคุณภาพของคนทำงานที่ชัดเจน มีกระบวนการฝึกอบรมให้ความรู้ โดยการนำองค์ความรู้ขององค์กรมาถ่ายทอด สอนงานอย่างมีประสิทธิผล จึงทำให้ได้คนที่นอกจากจะมีคุณภาพตรงตามเป้าหมายที่ต้องการแล้ว คนเหล่านั้นยังมีความสามารถในการต่อยอดให้เกิดองค์ความรู้ใหม่แก่องค์กรได้อีกด้วย จึงทำให้องค์กรยิ่งมีชื่อเสียงและมีภาพลักษณ์ที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลโดยตรงทำให้มีคนเก่งอีกมากมายสนใจอยากจะเข้ามาร่วมงานเพิ่มขึ้นอีกด้วย
การสร้างองค์ความรู้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นกับองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น องค์กรธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมหรือที่นิยมเรียกว่า SME ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในบ้านเราก็สามารถทำได้ และจุดเริ่มต้นสำคัญอยู่ที่ผู้นำซึ่งมักจะเป็นเจ้าของกิจการที่มีความรู้ มีความสามารถและประสบการณ์มากที่สุดในองค์กรอยู่แล้ว ที่ต้องเล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ก่อนเป็นคนแรก หลังจากนั้นจึงค่อยๆ แบ่งเวลาในแต่ละวันในการสร้างองค์ความรู้ ทำหน้าที่เป็นครูและเป็นโค้ชที่ดีในการถ่ายทอดสอนงานให้แก่พนักงานด้วยตัวเองก่อนในช่วงแรก
อุปสรรคที่ SME ส่วนใหญ่จะต้องเอาชนะและก้าวข้ามผ่านไปให้ได้คือ การไม่ได้คนเก่งเข้ามาร่วมงานในช่วงที่องค์กรยังมีขนาดเล็ก ยังไม่มีชื่อเสียงมากเพียงพอที่จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้คนเก่งอยากมาร่วมงานด้วยแม้ว่าจะมีเงินจ้างในระดับเดียวกับองค์กรขนาดใหญ่ก็ตาม ดังนั้น เจ้าของกิจการที่ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารเองอยู่แล้วจึงควรตระหนักไว้เสมอว่า ยิ่งเราได้คนเก่งน้อยมาร่วมงาน เรายิ่งต้องมีกระบวนการด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่เหนือกว่า จึงจะสามารถสร้างคนของเราให้เก่งสู้คนอื่นเขาได้
วันนี้ หากองค์กรธุรกิจใดยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาคุณภาพและขีดความสามารถของคน ยังละเลยการสร้าง “องค์ความรู้” ขององค์กรให้เป็นรูปธรรม เห็นทีจะดำรงอยู่ในอนาคตได้ยากและอาจต้องเตรียมวางแผนเกษียณหรือเลิกกิจการไว้ล่วงหน้าแทน เพราะนอกจากจะต้องแข่งขันกับคนเก่งของคู่แข่งแล้ว ยังต้องเผชิญหน้ากับหุ่นยนต์อัจฉริยะที่มีความรู้มากกว่าคนและสามารถคิดแทนคนได้ในอนาคตอันใกล้นี้อีกด้วย
ณัฐ นิวาตานนท์
บริษัท ดี.จี. ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ผู้ขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตรายมืออาชีพ
ท่านผู้อ่านสามารถติดตามรับชมบทความนี้ในรูปแแบบ VDO ได้ตาม Link ข้างล่างนี้ครับ