ผู้บริหาร-ผู้จัดการ-นักจัดการ
สังเกตไหมครับว่าเรามักจะให้เกียรติผู้ที่ทำหน้าที่บริหารงานระดับสูงขององค์การ โดยจะเรียกท่านเหล่านั้นว่า “ผู้บริหาร” ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Management และเรียกผู้บริหารระดับรองลงมาว่า “ผู้จัดการ” ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Manager ซึ่งจริงๆ ก็มาจากคำศัพท์ตัวเดียวกันคือ Management ที่แปลความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า การจัดการงานให้สำเร็จโดยมุ่งเน้นไปที่การวางแผน สั่งการและควบคุมงานโดยให้ลูกน้องเป็นคนทำ และเมื่อไปค้นหาในพจนานุกรมไทยจะพบว่าการบริหารและการจัดการมีความหมายเหมือนกัน
ดังนั้น จึงขอให้เป็นที่เข้าใจว่าทั้งผู้บริหารและผู้จัดการต่างก็มีภาระหน้าที่คล้ายกันคือ การบริหารจัดการงานให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย เพียงแต่ผู้บริหารจะมีขอบเขตความรับผิดชอบที่กว้างกว่าและรับผิดชอบต่อความสำเร็จในภาพรวมของทั้งองค์การ ส่วนผู้จัดการจะรับผิดชอบต่อความสำเร็จเฉพาะภายในฝ่ายหรือแผนกของตนเท่านั้น
หลักการบริหารจัดการไม่ว่าจะอ้างอิงจากตำราเล่มใดก็หนีไม่พ้นกรอบ PDCA หรือ Plan Do Check Act ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี โดยกลุ่มงานวางแผน ต้องเริ่มจากการกำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจ เพื่อนำมากำหนดเป็นแผนธุรกิจและเป้าหมายหลักขององค์การที่จะนำไปสู่การกำหนดรูปแบบโครงสร้างการบริหารงานและบุคลากร ที่แต่ละฝ่ายจะนำไปจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกัน รวมถึงการจัดทำงบประมาณด้วย
กลุ่มงานลงมือทำต้องเริ่มจากการมอบหมายงานและสั่งการ การอบรมให้ความรู้ การเป็นพี่เลี้ยงดูแลสอนงานลูกน้องอย่างใกล้ชิด รวมถึงการอำนวยความสะดวกและประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกิดความราบรื่น และมีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เพียงแค่สั่งการโดยไม่เอาใจใส่ว่าลูกน้องจะสามารถทำงานบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายได้หรือไม่
กลุ่มงานตรวจสอบ เริ่มต้นจากการกำกับดูแล ควบคุมคุณภาพของงานให้เป็นไปตามที่ต้องการ โดยจะต้องให้ความสำคัญที่ผลลัพธ์สุดท้ายหรือผลงานเป็นหลัก และต้องสามารถประเมินผลการปฏิบัติงานเชิงพฤติกรรมของลูกน้องได้ด้วยพร้อมทั้งให้คำแนะนำในการปรับปรุงที่เหมาะสมเพื่อทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีในทีมงาน เพราะถ้าทีมไม่เวอร์คจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานโดยตรง
กลุ่มงานแก้ไขปรับปรุง เป็นส่วนงานสำคัญที่จะสร้างความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนให้กับองค์การเพราะเป็นการนำปัญหา ข้อผิดพลาด กรณีศึกษาและสิ่งเรียนรู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียนและสร้างเป็นองค์ความรู้ให้แก่องค์การอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาเป็นองค์ความรู้ใหม่ ช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและทำให้ลูกค้ามีความประทับใจมากขึ้น
หน้าที่ “จัดการ” จึงควรเป็นภารกิจหลักของพนักงานทุกคนและทุกตำแหน่งงานที่จะต้องจัดการงานของตัวเองให้สำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งเราน่าจะเรียกว่า “นักจัดการ” มากกว่าพนักงาน และเมื่อสามารถรับผิดชอบพฤติกรรมและผลงานของตัวเองได้จนเป็นที่ยอมรับแล้ว จึงจะสมควรได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้า เป็นผู้จัดการเพื่อกำกับดูแลคนอื่นต่อไป
ปัญหาที่พบบ่อยๆ ในองค์การปัจจุบันคือ การแต่งตั้งคนที่ยังไม่มีคุณลักษณะและภาวะผู้นำที่เหมาะสมเพียงพอให้ทำหน้าที่ผู้จัดการ อันเนื่องมาจากเหตุผลเพราะต้องการตอบแทนการทำงานมานานหรือเพื่อหาทางออกในเรื่องค่าตอบแทนที่ไม่สามารถเพิ่มให้ได้มากถ้าไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง เราจึงต้อง “สูญเสียลูกน้องที่ดีไปเพื่อแลกกับผู้จัดการห่วยๆ มาแทน”
จึงขอแนะนำให้ทุกองค์การสร้างความตระหนักในหน้าที่จัดการให้เกิดขึ้นกับพนักงานทุกคน โดยจะต้องมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ เป้าหมายความสำเร็จของงาน หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลงานของทุกตำแหน่งงานให้ชัดเจน โปร่งใส ไม่มีการใช้อารมณ์และความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงการกำหนดเส้นทางความก้าวหน้าในหน้าที่การงานต้องชัดเจนด้วยซึ่งจะทำให้พนักงานทุกคนเข้าใจว่าตัวเองจะต้องมีทักษะและขีดความสามารถด้านใด มากน้อยแค่ไหนจึงจะได้รับการเลื่อนขั้นและตำแหน่ง และที่สำคัญที่สุดคือผู้บริหารต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอย่างแท้จริง รวมถึงการทำตัวเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูกน้องเห็นและอยากปฏิบัติตามอีกด้วย
ณัฐ นิวาตานนท์
บริษัท ดี.จี. ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ผู้ขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตรายมืออาชีพ
ท่านสามารถรับชมบทความนี้ในรูปแบบคลิป VDO ตาม Link ข้างล่างนี้