การสอนงานลูกน้อง
หน้าที่ ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของคนที่เป็นหัวหน้าคือการสอนงานลูกน้องให้มีความรู้ มีความเข้าใจและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องครบถ้วนตรงตามที่ต้องการ และที่ต้องให้สำคัญควบคู่กันไปด้วยก็คือ ความรับผิดชอบต่อผลการทำงานของลูกน้องที่จะต้องเป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการอีกด้วย ซึ่งวิธีการสอนงานนั้นมีหลายรูปแบบ เช่น การสอนแบบครูในโรงเรียน (Teaching) การสอนแบบพี่เลี้ยงหรือติวเตอร์สอนพิเศษ (Mentoring) การสอนแบบโค้ชนักกีฬา (Coaching) หรือ การสอนแบบให้คำปรึกษา (Consulting) ที่เหล่าหัวหน้าทั้งหลายต้องรู้จักเลือกใช้ให้เหมาะสมกับคุณลักษณะนิสัยของลูกน้องแต่ละคน
วิธีการสอนแบบครูในโรงเรียนจะเหมาะสมที่สุดหากเรารับลูกน้องที่ยังไม่มีประสบการณ์เข้ามาร่วมงานหรือลูกน้องคนนั้นอาจยังมีวุฒิภาวะความเป็นผู้ใหญ่และมีวินัยในตัวเองไม่มากพอ รวมถึงยังขาดความตั้งใจอย่างจริงจังและไม่จดจ่อกับการทำงาน วิธีการสอนแบบนี้จึงจำเป็นต้องใช้ความใกล้ชิด มีการบ้านให้ทำอย่างต่อเนื่องและคอยหมั่นตรวจติดตามพฤติกรรมการทำงานและผลงานอย่างสม่ำเสมอ เมื่อการตรวจการบ้านแล้วจะต้องสะท้อนผลงานให้ลูกน้องรับทราบทันทีเพื่อแก้ไขปรับปรุง หากผลงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายบ่อยๆ ก็จำเป็นต้องใช้การคาดโทษและลงโทษเป็นเครื่องมือเหมือนไม้เรียวของครู
การสอนแบบพี่เลี้ยงหรือติวเตอร์สอนพิเศษจะมุ่งเน้นสอนเทคนิควิธีการทำงานขั้นก้าวหน้า นำเอาประสบการณ์และสิ่งเรียนรู้นอกตำรามาใช้เป็นบทเรียนที่เหมาะสมสำหรับลูกน้องกลุ่มที่มีความสนใจ เอาใจใส่ ใฝ่รู้เหมือนนักเรียนที่ขอพ่อแม่ไปเรียนพิเศษเพิ่มเติม การพยายามใช้วิธีนี้กับลูกน้องที่ขี้เกียจอาจไม่ได้ผล เปรียบเสมือนการพยายามสอนนักเรียนที่ถูกพ่อแม่บังคับให้ไปเรียนพิเศษ ดังนั้น หัวหน้างานจึงต้องมองให้ออกด้วยว่าลูกน้องตนเองคนไหนสามารถใช้วิธีนี้ได้ หากพยายามใช้วิธีนี้กับคนที่ไม่ใช่ก็จะกลายเป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์
การสอนงานแบบโค้ชนักกีฬาเป็นการสอนลูกน้องที่มีความพร้อมแล้วที่จะลงแข่งขันกับคู่แข่ง มุ่งเน้นสอนการปฏิบัติงานจริงโดยให้ลูกน้องลงมือทำเอง แต่การสอนแบบนี้หัวหน้าที่ดีต้องคอยดูแล เอาใจใส่อย่างใกล้ชิด คอยแนะนำและปรับแผนการทำงานตลอดเวลา หากพบว่าทำได้ไม่ดีพอต้องขอเวลานอกเรียกมาอบรมทันทีหรือหากดูแล้วไปต่อไม่ไหว จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวก็ต้องกล้าทำโดยคำนึงถึงผลงานของทีมต้องมาก่อน ไม่ใช่มัวแต่เกรงใจจนทำให้พังทั้งทีม
การสอนงานแบบให้คำปรึกษาเป็นวิธีการที่เหมาะสมกับลูกน้องที่มีภาวะผู้นำดี รู้บทบาทหน้าที่และมีวินัยสูง การสอนงานแบบนี้จึงต้องเริ่มต้นด้วยการให้ทิศทางและมอบหมายเป้าหมายที่ต้องการเป็นสำคัญ ต้องให้อิสระในการทำงานกับลูกน้องกลุ่มนี้อย่างเต็มที่ แต่จำเป็นที่จะต้องมีการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลงานด้วยเช่นกันแต่ความถี่อาจจะไม่มากเท่าลูกน้องกลุ่มอื่นๆ หัวใจสำคัญคือ เมื่อลูกน้องขอคำปรึกษาต้องให้คำแนะนำและคำตอบที่ชัดเจนทันทีและควรมีการสะท้อนความพึงพอใจหรือข้อเสนอเพื่อแก้ไขปรับปรุงให้เขาทราบอย่างต่อเนื่องด้วย
ปัญหาที่พบบ่อยในองค์กรจะมี 2 รูปแบบคือ ปัญหาจากหัวหน้าที่ไม่สอนงานลูกน้อง ไม่ว่าจะสอนไม่เป็น สอนไม่ถูกวิธีหรือไม่ชอบสอนก็ตาม กับ ปัญหาจากหัวหน้าที่สอนงานลูกน้องเป็นแต่ไม่กล้าดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับลูกน้องที่ทำงานไม่ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งทั้งสองแบบจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการทำงานโดยรวมของทีมงานและองค์กร
รากเหง้าของปัญหาที่ทำให้คนไทยถูกมองว่าไม่มีวินัย ไม่ตรงต่อเวลา ไม่รักษาคำพูด ไม่เอาจริงเอาจัง ต้องรอให้เกิดวิกฤตก่อนจึงจะเปลี่ยนเป็นโอกาส และอื่นๆ อีกมากมาย จึงมาจากนิสัยขี้เกรงใจและชอบคิดว่า “ไม่เป็นไร” ของหัวหน้าโดยยอมลดคุณภาพและประสิทธิผลของเป้าหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายความสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับลูกน้องของตัวเอง ซึ่งอาจเป็นเพราะกลัวเขาลาออกแล้วตัวเองต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นก็ได้
วันนี้ ถ้าเราต้องการเห็นประเทศไทยเจริญก้าวหน้า สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้อย่างภาคภูมิใจ คนที่กำลังเล่นบทหัวหน้าทุกคน ไม่ว่าจะระดับไหนในองค์กรใดก็ตาม ต้องมีทักษะในการสอนงานและที่สำคัญคือ ต้องกล้าที่จะจัดการกับลูกน้องที่ไม่เอาไหนด้วยศิลปะที่จะทำให้เกิดการยอมรับด้วยความเข้าใจโดยมีทางเลือกให้แค่ 2 ทางคือ ปรับปรุงตัวเอง หรือ จากกันด้วยดี
ณัฐ นิวาตานนท์
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ดี.จี. ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ผู้ขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตรายมืออาชีพ
============= ================ =============
ท่านสามารถรับชมบทความนี้ในรูปแบบคลิป VDO ตาม Link ข้างล่างนี้