ข้อคิดและหลักการบริหารเพื่อการพัฒนา

ถอดบทเรียนจากวิกฤต

02 Sep 2018
แชร์ :




ถอดบทเรียนจากวิกฤต

บ่อยครั้งที่เรามักได้ยินคำสบประมาทคนไทยว่า “ทำงานเป็นทีมไม่เป็น” แต่หลายคนอาจจะต้องเปลี่ยนความคิดใหม่หลังจากที่ได้เห็นการทำงานของคนไทยในการแก้ปัญหาวิกฤตนักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าอาคาเดมี่ที่เข้าไปติดอยู่ในถ้ำขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงรายเมื่อกลางปี พ.ศ. 2561 ทำให้ชาวโลกได้ประจักษ์ว่าคนไทยก็ทำงานเป็นทีมเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลกเช่นกัน ซึ่งนอกจากจะช่วยกู้หน้าคนไทยแล้ว ยังสามารถถอดบทเรียนมาใช้เป็นแนวทางในการบริหารทีมงานได้อีกด้วย

บทเรียนแรก สอนให้เราต้องตระหนักเสมอว่า การทำงานร่วมกันเป็นทีมจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกทุกคนมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการทำงานเดียวกันและทุกคนต้องมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะทำให้เป้าหมายนั้นสำเร็จไม่ว่าจะมีอุปสรรคมากมายเพียงใดก็ตาม การมีสมาชิกในทีมงานแม้แต่เพียงคนเดียวที่คิดว่าเป้าหมายนั้นเป็นไปไม่ได้ อาจจะส่งผลให้การทำงานของทีมล้มเหลวได้ ดังนั้น ต้องกำจัดคนๆ นั้นออกไปจากทีมทันทีถ้าพบว่าเขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดได้

บทเรียนที่สอง สอนให้เรารู้ว่า ทีมงานจะเข้มแข็งได้ต้องมีผู้นำที่เก่ง ทั้งเก่งคิดวางแผนกลยุทธ์และวิธีการทำงานรวมถึงคิดแนวทางในการแก้ปัญหาที่ต้องมีทางเลือกเผื่อไว้หลายๆ ทางให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงเก่งงานที่นอกจากจะสามารถแสดงให้ลูกทีมเห็นเป็นตัวอย่างที่ดีแล้วยังสามารถถ่ายทอดสอนงานเป็นด้วย และเก่งคนด้วยศิลปะการสร้างแรงบันดาลใจและปลุกใจให้ทีมงานฮึกเหิม สามารถประสานสิบทิศให้ได้รับความร่วมมือจากผู้อื่นด้วยความเต็มใจ รวมถึงกล้าตัดสินใจ กล้ารับผิดชอบในสิ่งที่ทีมงานทำและนำทีมงานไปในทางที่ดีด้วย

บทเรียนที่สาม สอนให้เราเข้าใจว่า วิกฤตการณ์ที่รุนแรงหรือเหตุการณ์ที่มีความเป็นความตายเป็นเดิมพันเท่านั้นที่จะทำให้เกิดความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง ดังนั้น หากเราต้องการสร้างทีมงานที่มุ่งมั่นและเข้มแข็ง เราต้องมั่นใจว่าทีมงานทุกคนคิดเหมือนกันว่า จะต้องบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายนั้นให้ได้โดยมีความเป็นความตายเป็นเดิมพัน และเดิมพันที่สูงที่สุดเท่านั้นที่จะสามารถทำให้มีโอกาสบรรลุผลสำเร็จได้จริง

รากเหง้าที่ทำให้การทำงานเป็นทีมของคนไทยส่วนใหญ่ไม่ดีเท่าที่ควร มาจากลักษณะนิสัยในการทำงานที่ไม่ชอบวางแผนล่วงหน้า ใช้เวลามากเกินไปในการวางแผนโดยไม่ลงมือทำสักที หรือพอลงมือทำแล้วก็ไม่มีการติดตามผล ไม่ตรวจสอบว่าผลงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ ซึ่งเกิดจากความเคยชินกับการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่มีความอุดมสมบูรณ์แบบในน้ำมีปลาในนามีข้าว แถมยังมีภูมิอากาศกำลังดี ไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป ไม่มีภัยธรรมชาติรุนแรงและไม่มีหิมะตก จึงไม่รู้สึกกดดันที่จะต้องเตรียมตัวล่วงหน้าเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์เหมือนชนชาติอื่น

ความพยายามทำให้คนไทยเป็นคนที่มีนิสัยคิดคาดการณ์ เป็นนักวางแผนการทำงานล่วงหน้าและให้ความสำคัญกับการซ้อมแผนรับมือหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือภัยธรรมชาติที่ไม่คาดคิดขึ้น แม้ว่าจะเป็นความพยายามที่ฝืนธรรมชาติของคนไทยส่วนใหญ่ก็ตาม แต่มันเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้นำทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญและทำตัวเป็นต้นแบบ โดยต้องพยายามใช้ทั้งแรงกดดัน แรงจูงใจและแรงบันดาลใจให้ลูกทีมของตนเปลี่ยนแปลงโดยจะต้องมีเป้าหมายและวิธีปฏิบัติงานที่กำหนดเป็นข้อตกลงไว้อย่างชัดเจนราวกับว่ามีวิกฤตเกิดขึ้นตลอดเวลา รวมถึงต้องมีการติดตามประเมินผลด้วยความถี่ที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ปีละครั้งอย่างที่ทำกันเป็นส่วนใหญ่

เราไม่จำเป็นต้องรอให้วิกฤตการณ์แบบหมูป่าติดถ้ำ น้ำท่วมใหญ่ หรือ สึนามิ เกิดขึ้นจริงกับชีวิตของเราก่อน แล้วจึงค่อยดึงเอาศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเองออกมาใช้ แต่ขอให้พยายามเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ โดยถามตัวเองบ่อยๆ ว่าวันนี้ รู้หรือยังว่าภาพในอนาคตที่ตัวเองต้องการเป็นเช่นไร จะมีเงินเก็บไว้ใช้ตอนแก่เท่าไหร่ หรือจะทำงานให้มีความก้าวหน้า มั่นคงปลอดภัยได้อย่างไร หากเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วเงินที่มีอยู่ในปัจจุบันเพียงพอสำหรับรักษาตัวเองหรือไม่ ถ้ายังตอบคำถามพื้นฐานเหล่านี้ไม่ได้ แค่นี้ก็น่าจะเป็นวิกฤตชีวิตที่ทำให้ขนหัวลุกและนอนไม่หลับแล้ว

ณัฐ นิวาตานนท์

กรรมการผู้จัดการ

บริษัท ดี.จี. ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

ผู้ขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตรายมืออาชีพ

============= ================ =============

ท่านสามารถรับชมบทความนี้ในรูปแบบคลิป VDO ตาม Link ข้างล่างนี้


บทความและสาระน่ารู้ในการปฏิบัติงานขนส่ง


ข่าวสารและกิจกรรม


ข้อคิดและหลักการบริหารเพื่อการพัฒนา


(คลิป) สาธิตขั้นตอนในการปฏิบัติงานขนส่ง


กฏหมายและข้อกำหนดของภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งวัตถุอันตราย


วิดีโอแนะนำบริษัท




บริษัท ดี.จี.ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
D.G. Trans International Co., Ltd.

ติดต่อเรา

Tel : 080-067-5236
E-mail : marketing@dgtrans.co.th

168/22 หมู่3 ต.ปากคลองบางปลากด อ.พระสมุทรเจดีย์
จ.สมุทรปราการ 10290
Copyright © 2017 All Rights Reserved. Designed By Golly-design