ธุรกิจส่วนตัว
คำตอบยอดนิยมที่เรามักจะได้ยินเสมอเมื่อถามคนที่กำลังทำงานเป็นลูกจ้างว่าพวกเขามีความฝันหรือเป้าหมายในชีวิตอย่างไร คือ อยากมีธุรกิจส่วนตัว แต่ที่น่าแปลกใจคือ ส่วนใหญ่ประเภทของธุรกิจส่วนตัวที่อยากทำนั้นมักจะไม่ตรงกับลักษณะงานที่ตัวเองได้รับมอบหมายหรือกำลังทำอยู่ ซึ่งช่องว่างระหว่างความฝันกับความจริงตรงนี้นี่เองที่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาวะสูญเสียทั้งคู่ นั่นคือ นายจ้างก็ไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากงานที่ลูกจ้างทำ และลูกจ้างก็เสียโอกาสที่ต้องทนทำงานที่ตัวเองไม่อยากทำ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานจึงออกมาไม่ดีเท่าที่ควร
แต่หากลูกจ้างคนใดที่มีความฝันและเป้าหมายอย่างแรงกล้าว่า เขาอยากมีธุรกิจส่วนตัวและลักษณะของธุรกิจที่อยากทำนั้นมันตรงกับงานที่เขากำลังทำอยู่พอดี ซึ่งนายจ้างจะสามารถรับรู้และสังเกตได้จากประสิทธิภาพและผลงานของคนๆ นั้นที่มักจะอยู่ในขั้นดีเยี่ยม แต่ถึงแม้ว่าจะเกิดสภาวะ วิน-วิน หรือได้ทั้งคู่ในขณะนั้นก็ตาม มันก็มีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีมาตรการที่ดีพอรองรับไว้ แล้วปล่อยให้ลูกจ้างคนนั้นลาออกไปตามความฝัน ซึ่งผลกระทบที่จะตามมา นอกจากจะเสียคนทำงานฝีมือดีไปหนึ่งคนแล้ว ยังอาจได้คู่แข่งเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งรายด้วย
เหตุผลสำคัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่อยากทำธุรกิจส่วนตัวมาจาก ความอยากมีอิสระ อยากเป็นตัวของตัวเองเพื่อจะได้ทำตามความคิดและเดินตามความฝันได้อย่างเต็มที่และคนส่วนใหญ่เชื่อว่าโอกาสที่จะมีทรัพย์สินเงินทอง เกียรติยศและชื่อเสียงจะมีมากกว่าถ้าทำธุรกิจของตัวเอง ซึ่งคนที่มีคุณลักษณะนิสัยและมีความตั้งใจจริงเช่นนั้น เราคงจะเหนี่ยวรั้งให้พวกเขาทำงานเป็นลูกจ้างในระยะยาวได้ยากอย่างแน่นอน
ปัญหาใหญ่ที่นายจ้างและตัวแทนนายจ้างที่เรียกให้ดูดีว่าผู้บริหารต้องขบคิดกันอย่างหนักก็คือ จะทำอย่างไรให้ลูกจ้างที่มักถูกเรียกให้ดูดีเช่นกันว่าพนักงาน ที่มีความฝันอยากทำธุรกิจส่วนตัวให้เปลี่ยนใจมามองว่าอาชีพลูกจ้างไม่ว่าจะมีบทบาทหน้าที่ใดก็ตาม แท้ที่จริงก็ไม่ต่างอะไรกับการทำธุรกิจส่วนตัวที่มีตัวเองเป็นทั้งเจ้าของกิจการและพนักงานและควรเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อนายจ้างและผู้บริหารให้เหมือนกับลูกค้าที่ต้องให้ความสำคัญและมีเป้าหมายสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า
ในขณะเดียวกัน ในฝั่งของนายจ้างและผู้บริหารก็ต้องปรับมุมมองที่มีต่อลูกจ้างและพนักงานด้วยเช่นกัน โดยมองพวกเขาให้เหมือนหุ้นส่วนธุรกิจที่แม้ว่าจะไม่ได้ลงทุนร่วมกันด้วยเงิน แต่เป็นการลงทุนร่วมกันด้วยใจโดยต้องแสดงให้เห็นว่าผู้บริหารนั้นเป็นหุ้นส่วนใหญ่เพราะต้องเอาใจใส่ลงไปในงานมากกว่าให้พนักงานเห็นเป็นที่ประจักษ์ เหนื่อยมากกว่า ทุ่มเทมากกว่าและพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นได้อย่างชัดเจนว่าคนที่มีหุ้นส่วนทางใจมากเท่านั้น ที่จะได้รับผลตอบแทนมากตามไปด้วย ทั้งในรูปของตัวเงินและโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
ในภาวะเศรษฐกิจที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำไม่ถึง 2% ต่อปีเช่นทุกวันนี้ ทำให้การลงทุนทำธุรกิจให้ได้ผลตอบแทนก่อนหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวสัก 10% จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถอย่างยิ่ง เปรียบเทียบกับเด็กปริญญาตรีจบใหม่ได้เงินเดือน 15,000 บาท ถ้าจะออกไปทำธุรกิจส่วนตัวให้ได้รายได้เท่ากันก็ต้องทำยอดขายให้ได้อย่างน้อย 150,000 บาทต่อเดือน หรือ 1.8 ล้านบาทต่อปี
ฉะนั้น ถ้าวันนี้พนักงานท่านใดที่กำลังฝันอยากมีธุรกิจส่วนตัวที่คิดว่าจะทำให้ตัวเองมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำไมไม่ลองเจรจาต่อรองกับนายจ้างหรือผู้บริหารซึ่งเป็นลูกค้าโดยตรงดูว่า หากท่านสามารถปรับปรุงรูปแบบในการทำงานที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของผลงานที่ทำอยู่ให้ดีขึ้นได้โดยใช้ความรู้ ความสามารถ ทักษะและประสบการณ์ที่มีอยู่ของท่านมาต่อยอดแล้ว ท่านจะขอเงินเดือนเพิ่มและปรับตำแหน่งตามที่ท่านต้องการได้หรือไม่ เพื่อเป็นการพิสูจน์ตัวเองก่อนตัดสินใจออกไปทำธุรกิจส่วนตัวในสนามการค้าจริง...วิธีนี้จะง่ายกว่าไหมครับ
ณัฐ นิวาตานนท์
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ดี.จี. ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ผู้ขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตรายมืออาชีพ
============= ================ =============
ท่านสามารถรับชมบทความนี้ในรูปแบบคลิป VDO ตาม Link ข้างล่างนี้