“ลูกน้องไม่เอาไหน ทำงานไม่ได้เรื่อง ไม่มีความรับผิดชอบ ขี้เกียจ ชอบความสบาย”
เป็นคำบ่นที่เรามักได้ยินคนที่เป็นหัวหน้าพูดถึงลูกน้องของตัวเองลับหลังอยู่บ่อยๆ ซึ่งก่อนที่เราจะเชื่อว่ามันเป็นความจริง เราควรให้ความยุติธรรมกับทั้งสองฝ่าย โดยต้องเริ่มต้นจากการตั้งคำถามแรกก่อนเลยว่า หัวหน้าที่กำลังบ่นลูกน้องของตัวเองอยู่นั้นเคยบอกความคาดหวังหรือสิ่งที่ตัวเองต้องการจากเขาบ้างหรือเปล่า เคยบอกไหมว่าเขาจะต้องประพฤติตัวหรือปฏิบัติตนอย่างไรถึงจะเรียกว่าถูกต้อง และเมื่อเขาทำไม่ได้ เคยทำข้อตกลงกับเขาบ้างไหมว่า ถ้าทำไม่ได้อีกแล้วเขาจะได้รับผลอย่างไร
หัวหน้าบางคนนอกจากจะไม่เคยบอกความต้องการของตนให้ลูกน้องรับรู้แล้ว ยังไม่ชอบสอนงานลูกน้องอีกต่างหาก ทำให้โอกาสที่จะผิดหวังกับผลงานของลูกน้องยิ่งเพิ่มมากขึ้น ผลที่ตามมาก็คือ ความหงุดหงิด และยิ่งถ้ามีการใช้คำพูดว่ากล่าวตักเตือนกันอย่างรุนแรงซ้ำเติมเข้าไปอีกโดยคิดว่ามันจะเป็นวิธีสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็คงได้ผลบ้างกับลูกน้องบางคน แต่เชื่อเถอะว่าไม่น่าจะได้ผลในระยะยาว เพราะมนุษย์ทุกคนไม่ชอบให้ใครมาว่ากล่าวตักเตือนด้วยคำพูดที่รุนแรงอยู่แล้วไม่ว่าเรื่องนั้นมันจะมีความจริงบ้างก็ตาม
เราอาจเคยได้ยินหัวหน้าหลายคนบอกว่าได้ทำทุกอย่างเต็มที่แล้ว ไม่ว่าจะบอกเป้าหมายที่ต้องการ ทั้งสอนงานและตักเตือนมาโดยตลอด แต่ก็ไม่สามารถทำให้ลูกน้องของตนทำงานให้ดีขึ้นได้ ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงก็ไม่ยาก แค่เพิ่มข้อตกลงร่วมกันว่าจะให้โอกาสกันอีกสักกี่ครั้งและถ้าหมดโอกาสแล้วก็ต้องลาออกไป ซึ่งหัวหน้าที่ดี นอกจากจะต้องเป็นครูที่ดีแล้ว จะต้องกล้าและใจแข็งพอที่จะบังคับใช้ข้อตกลงนั้น เพื่อให้ลูกน้องคนนั้นลาออกไปหรือไม่ก็ต้องถูกเลิกจ้าง ไม่ใช่ปล่อยไว้เฉยๆ โดยไม่ทำอะไรแล้วมานั่งบ่น ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ตัวเองยังถูกมองว่าไม่เอาไหนแทนด้วยและยังทำให้ลูกน้องคนอื่นที่ตั้งใจทำงานเกิดความรู้สึกท้อแท้และเลียนแบบได้
สังคมไทยเรามีขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมอันดีงาม มีเอกลักษณ์ของตัวเองมาอย่างยาวนาน คนไทยมีนิสัยห่วงใยผู้อื่น ชอบช่วยเหลือเอื้ออาทรซึ่งกันและกันมาโดยตลอด เป็นคนถ้อยทีถ้อยอาศัย ให้อภัยกันง่ายยิ่งถ้าคำขอโทษนั้นมาพร้อมกับรอยยิ้มและการยกมือไหว้ แต่เราก็ควรใช้วัฒนธรรมนี้อย่างถูกกาลเทศะด้วย
การยอมรับมาตรฐานในการทำงานที่ต่ำลง หรือยอมรับในคุณภาพของผลงานที่แย่ลงเพียงเพราะว่า ไม่กล้าว่ากล่าวตักเตือนลูกน้องหรือไม่มีวิธีบริหารจัดการกับลูกน้องที่ไม่มีความสามารถเพียงพอ จึงเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศไทยลดลงไปเรื่อยๆ ซึ่งปัญหาที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากการมีลูกน้องไม่เอาไหน แต่มันเกิดขึ้นจากการที่เรามีคนระดับหัวหน้ามากมายที่ไม่กล้าใช้อำนาจเด็ดขาดในการจัดการกับลูกน้องที่ไม่เอาไหนต่างหาก โดยชอบอ้างว่าเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีงามตามวิถีประเพณีไทย
ณัฐ นิวาตานนท์
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ดี.จี. ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ผู้ขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตรายมืออาชีพ