เรามักได้ยินคำวิพากษ์วิจารณ์หรือคำบ่นในวงสนทนาบ่อยๆ ว่า ขีดความสามารถของคนไทยนับวันจะลดลงไปเรื่อยๆ และหลายคนคาดเดาว่ามันมาจากระบบการศึกษาของไทยในอดีตที่ไม่ได้สอนให้เด็กไทยคิดเป็นและกล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์มาอย่างยาวนาน รวมถึงเด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่ถูกสอนให้ขยัน ตั้งใจเรียนให้จบปริญญาแล้วชีวิตจะสบายเองจึงทำให้คนส่วนใหญ่หยุดเรียนรู้ทันทีที่เรียนจบ และคิดว่าความเก่งกล้าสามารถของตัวเองจะเพิ่มพูนขึ้นได้โดยอัตโนมัติตามระยะเวลาทำงานที่เพิ่มขึ้น
ลองสังเกตข้อมูลข่าวสารทางโทรทัศน์ในช่วงไพร์มไทม์ที่คนไทยถูกยัดเยียดให้ดูตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า หลังเลิกงานและก่อนเข้านอน ที่มีแต่การนำเสนอคลิปการเกิดอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท การลักขโมยจี้ปล้น การฆาตรกรรมและนำเรื่องไร้สาระมากมายมาใช้ในการวิเคราะห์วิจารณ์กันอย่างลึกซึ้งราวกับว่าจะต้องนำไปใช้สอบแข่งขันในวันรุ่งขึ้น ซึ่งข่าวสารเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้คนไทยมีพัฒนาการด้านความคิดและเพิ่มพูนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ดีขึ้นแต่อย่างใดจนทำให้หลายๆ คนเลิกดูโทรทัศน์ไปแล้วและเปลี่ยนมาจ้องมือถือดูรายการที่ตัวเองสนใจแทน
เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่บรรทัดฐานทางความคิดในการพัฒนาคนส่วนใหญ่มาจากการนำสิ่งที่เลวร้าย สิ่งที่ไม่ดี สิ่งต่างๆ ที่เป็นด้านลบมาใช้ในการกระตุ้นให้คนเกิดความกลัว เกิดความหวาดระแวง โดยหวังว่าการทำเช่นนั้นจะส่งผลสังคมดีขึ้น แต่ตัวอย่างที่ชัดเจนที่บ่งบอกให้เห็นถึงความล้มเหลวของวิธีการดังกล่าวคือ การนำเสนอข่าวอุบัติเหตุที่ยิ่งพยายามกระตุ้นให้คนรับรู้มากเท่าไหร่ อุบัติเหตุในประเทศไทยกลับเพิ่มสูงขึ้นจนกำลังจะเป็นอันดับหนึ่งของโลกอยู่แล้ว เพราะปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไขที่ต้นเหตุอันเนื่องมาจากสาเหตุเพราะคิดไม่เป็น
การสอนเด็กให้กลัวการทำผิดส่งผลให้เด็กขาดความกล้าหาญ ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้าแสดงออกและพยายามทำตัวให้กลมกลืนกับความคิดของคนส่วนใหญ่เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดปลอดภัย ไม่ต้องเป็นที่จับตามองในสังคม เข้าตำรา “จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน” แต่เมื่อเด็กทำผิด ผู้ใหญ่ก็ไม่กล้าว่ากล่าวตักเตือน ไม่กล้าลงโทษอย่างเหมาะสมโดยอ้างว่าเพื่อรักษาความสัมพันธ์และอ้างความเมตตากรุณาตามหลักพุทธศาสนาซึ่งมักถูกนำมาใช้กล่าวอ้างอย่างไม่ถูกกาลเทศะ
เราคงคุ้นเคยกับวงสนทนาที่สนุกสนานเฮฮากับการเล่าเรื่องความอ่อนด้อยของคนไทย ที่มีแต่ข้อเสียและข้อจำกัดที่ต้องแก้ไขมากมายแต่กลับไม่มีใครสักคนที่จะพยายามลุกขึ้นมาบอกว่าตัวเองมีข้อเสนอวิธีแก้ไขปรับปรุงหรือจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร แต่กลับมองว่าเป็นหน้าที่ของคนอื่นที่ไม่ใช่ตน แม้กระทั่งคนที่เป็นหัวหน้ายังชอบบ่นว่าลูกน้องของตัวเองว่าไม่มีความรู้ ไม่มีความสามารถ แต่ก็ไม่เคยสอนงาน และชอบอ้างว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายทรัพยากรบุคคล
ฉะนั้น คงไม่ต้องตกใจหากมีผลการวิจัยที่เชื่อถือได้สรุปว่าขีดความสามารถของคนไทยมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จริงเพราะตราบใดก็ตามที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้เปลี่ยนกรอบความคิดของตัวเองให้มีความตระหนักว่าหน้าที่ในการพัฒนาคนเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน โดยเริ่มตั้งแต่การตั้งเป้าหมายพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิมทุกวัน หลังจากนั้นจึงค่อยๆ พัฒนาคนรอบข้างในครอบครัว ในที่ทำงานและขยายต่อไปในสังคมใกล้ตัว
อย่าคิดว่าเรียนจบการศึกษาได้ปริญญามาแล้วถือว่าจบกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งแท้ที่จริงการจบการศึกษาเป็นเพียงแค่ยุติการพัฒนาตัวเองแบบมีคนอื่นคอยบังคับ แต่เป็นการเริ่มต้นความรับผิดชอบในการพัฒนาตัวเองโดยใช้วินัยของตัวเองเป็นหลัก หากใครยังติดนิสัยแบบเด็กๆ ที่ต้องคอยให้มีคนมาควบคุมบังคับให้ทำในสิ่งที่ควรทำตลอดเวลา เห็นทีชาตินี้คนๆ นั้นคงจะสะกดคำว่า ประสบความสำเร็จ ไม่เป็นอย่างแน่นอน
ณัฐ นิวาตานนท์
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ดี.จี. ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ผู้ขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตรายมืออาชีพ