ข้อคิดและหลักการบริหารเพื่อการพัฒนา

ฟีดแบค (Feedback)

07 May 2019
แชร์ :




   คำภาษาอังกฤษที่คนไทยนิยมใช้ทับศัพท์กันมากที่สุดคำหนึ่งคือ ฟีดแบค หรือ ข้อมูลความคิดเห็นที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่นำมาใช้เพื่อประเมินความชอบ ไม่ชอบ หรือผลสำเร็จของสิ่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้า การบริการ หรือผลงาน ซึ่งเรามักจะได้ยินบ่อยๆ ในที่ทำงานเมื่อหัวหน้าต้องการแสดงออกให้ลูกน้องของตนรับรู้ถึงความพึงพอใจที่มีต่อผลงานของพวกเขา หรือใช้เป็นตัวชี้วัดความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อสินค้าและบริการ

   “ความภาคภูมิใจ” เป็นความรู้สึกที่ทุกคนต้องการมีต่อตัวเอง และคนที่มีความภาคภูมิใจในตัวเองมากย่อมเป็นคนที่มีความพึงพอใจในความเป็นตัวของตัวเองมาก ต่างจากคนที่มีความภาคภูมิใจในตัวเองน้อยย่อมมีความพึงพอใจในความเป็นตัวของตัวเองน้อยไปด้วย และความรู้สึกภาคภูมิใจเช่นนี้เองที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงโดยตรงกับ “ความมั่นใจในตัวเอง” ของคนๆ นั้น

   แม้ว่าความมั่นใจในตัวเองจะเป็นเรื่องที่ดี แต่บางครั้งการรับรู้ฟีดแบคจากผู้อื่นที่มีต่อตัวเรา เช่น พฤติกรรมของเราหรือผลงานของเรา ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นและไม่ควรมองข้ามเพราะมันจะช่วยทำให้เรามองโลกได้ตามความเป็นจริงโดยไม่คิดเข้าข้างตัวเองมากจนเกินไป และเราต้องตระหนักไว้เสมอว่าเราไม่ได้อยู่เพียงลำพังคนเดียวบนโลกใบนี้ ความสำเร็จต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ต้องได้รับความพึงพอใจและความร่วมมือด้วยความเต็มใจจากผู้อื่นไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะใดในสังคมก็ตาม

   ข้อมูลฟีดแบคอาจให้ทั้งคุณและโทษกับตัวเรา หากเราไม่ใช้วิจารณญาณไตร่ตรองอย่างรอบคอบต่อฟีดแบคนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โต มีอำนาจให้คุณให้โทษสูง ข้อมูลฟีดแบคที่ได้รับจากคนรอบข้างอาจถูกบิดเบือนเนื่องจากความเกรงกลัว ไม่กล้าบอกความจริง หรืออาจถึงขั้นให้ข้อมูลตรงกันข้ามเพื่อเอาตัวรอดหรือสร้างความพึงพอใจโดยหวังผลประโยชน์ตอบแทน หรือลูกน้องบางคนอาจเลือกที่จะเงียบและอยู่เฉยๆ โดยไม่มีฟีดแบค และนั่นคือเหตุผลหนึ่งที่เรามักจะได้เห็นแต่ฟีดแบคของหัวหน้าที่มีต่อลูกน้อง เพราะลูกน้องไม่กล้าฟีดแบคหัวหน้า มีแต่นินทาลับหลัง

   ฉะนั้น การให้ฟีดแบค หรือ การให้ข้อมูลความคิดเห็นต่อพฤติกรรมและผลงาน ระหว่าง “หัวหน้ากับลูกน้อง” จึงยังเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญเพื่อให้การทำงานบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการ โดยจะต้องกระทำอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช้อารมณ์ ให้ข้อมูลตรงตามความเป็นจริง โดยมุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมและผลงานที่ต้องการ และที่สำคัญ...คนที่เป็นหัวหน้าที่ต้องทำหน้าที่ให้ข้อมูลฟีดแบคนั้น จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดี มีความน่าเชื่อถือ และสามารถสื่อสารข้อมูลนั้นให้ลูกน้องสามารถสัมผัสและรับรู้ได้ว่าเป็นความปรารถนาดีของหัวหน้าที่ต้องการให้ลูกน้องคนนั้นเป็นคนดีและมีผลงานที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง

   หากจะให้เกิดผลดียิ่งกว่านั้น หัวหน้าไม่ควรให้ข้อมูลฟีดแบคเฉพาะตอนที่ลูกน้องทำงานผิดพลาด แต่เราควรเรียกพวกเขามากล่าวคำชมเชยเมื่อทำผลงานได้ดี พร้อมกับเสนอแนะวิธีที่จะทำให้ผลงานดีขึ้นด้วย และนี่คือกระบวนการอย่างหนึ่งที่คนไทยควรนำมาสร้างให้เกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ด้วยการให้กำลังใจ ปรบมือและชื่นชมคนที่ทำดี ไม่ว่าการทำดีนั้นจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม ไม่ใช่มัวแต่คอยมองเห็นแต่ข้อเสียหรือจุดบกพร่องของคนอื่นแล้วนำมาขยายผลให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่เพื่อทำให้ตัวเองได้ดีหรือรู้สึกดูดีขึ้นแค่นั้น

 

ณัฐ นิวาตานนท์

กรรมการผู้จัดการ

บริษัท ดี.จี. ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

ผู้ขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตรายมืออาชีพ

 


บทความและสาระน่ารู้ในการปฏิบัติงานขนส่ง


ข่าวสารและกิจกรรม


ข้อคิดและหลักการบริหารเพื่อการพัฒนา


(คลิป) สาธิตขั้นตอนในการปฏิบัติงานขนส่ง


กฏหมายและข้อกำหนดของภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งวัตถุอันตราย


วิดีโอแนะนำบริษัท




บริษัท ดี.จี.ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
D.G. Trans International Co., Ltd.

ติดต่อเรา

Tel : 080-067-5236
E-mail : marketing@dgtrans.co.th

168/22 หมู่3 ต.ปากคลองบางปลากด อ.พระสมุทรเจดีย์
จ.สมุทรปราการ 10290
Copyright © 2017 All Rights Reserved. Designed By Golly-design