ว่างๆ อยากให้ลองนึกถึงคนที่เรารู้จักใกล้ชิดดูว่ามีใครบ้างที่มีนิสัยและพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ผมว่าคำตอบคงจะคล้ายๆ กันคือ นึกไม่ออกหรือน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย และถ้าถามตัวเองว่ามีนิสัยและพฤติกรรมอะไรบ้างที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเมื่อปีสองปีก่อนก็คงจะได้รับคำตอบว่าเหมือนเดิมเป็นส่วนใหญ่
เท่าที่สังเกตเห็น คนที่สามารถเปลี่ยนแปลงนิสัยและพฤติกรรมตัวเองได้แบบนั้น ส่วนใหญ่มักมีแรงกดดันหรือเกิดวิกฤตขึ้นในชีวิตอย่างรุนแรง เช่น มีปัญหาด้านสุขภาพที่มีความเป็นความตายเป็นเดิมพันหรือถูกลงโทษภาคทัณฑ์ที่มีการถูกเลิกจ้างไล่ออกเป็นข้อตกลง ซึ่งก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าหากเดิมพันและข้อตกลงเหล่านั้นหายไปแล้วนิสัยเดิมๆ จะกลับมาอีกหรือไม่ จึงทำให้ทุกสังคมใช้บรรทัดฐานความคิดนั้นด้วยการออกกฏระเบียบข้อบังคับต่างๆ ขึ้นมามากมายและมีบทลงโทษที่รุนแรงหากฝ่าฝืน มาใช้เป็นเครื่องมือที่หวังว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงคนได้
แต่วิธีการดังกล่าวกลับไม่ตอบโจทย์เนื่องจากกฏระเบียบข้อบังคับและบทลงโทษเหล่านั้นไม่ได้ถูกนำไปบังคับใช้อย่างจริงจังซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากความกลัวหรืออ้างว่าไม่เข้าใจและไม่มีเวลาของผู้ควบคุมกฏ จึงทำให้ผู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฏย่ามใจ ไม่ปฏิบัติตามเพราะเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบใดๆ เกิดขึ้นตามมา โดยคนที่มีอำนาจออกกฏก็คิดแค่เอาตัวรอดเพราะถือว่าได้ทำหน้าที่ออกกฏไปแล้วแต่ไม่เคยสนใจไปติดตามเลยว่าผลที่ออกมาจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการหรือไม่
หลักบริหารคนในองค์กรยุคปัจจุบันจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารจะต้องศึกษา ค้นคว้าและให้ความสำคัญกับวิธีการที่จะทำให้เราสามารถหยั่งรู้ความเชื่อและทัศนคติที่อยู่เบื้องหลังนิสัยและพฤติกรรมของแต่ละคนให้ได้ ซึ่งฟังดูอาจเป็นเรื่องยากจึงทำให้หลายๆ คนไม่กล้าแม้แต่จะคิดแล้วเลือกวิธีง่ายๆ ด้วยการสอบสัมภาษณ์แบบเดิมๆ ทำให้เราได้คนที่ไม่เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่เข้ามาทำงานมากมาย
เมื่อรับคนเข้ามาทำงานแล้วก็ต้องมีกระบวนการที่มั่นใจได้ว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนนิสัยและพฤติกรรมของคนเหล่านั้นให้สอดคล้องกับที่ต้องการด้วยโดยต้องทำให้เขาเข้าใจว่าพฤติกรรมเหล่านั้นมีความสำคัญเชื่อมโยงกับเป้าหมายความสำเร็จขององค์กรและงานที่ได้รับมอบหมายอย่างไร
หลักการสำคัญในการบริหารคนยุคดิจิตอลคือ ความชัดเจนเช่นเดียวกับภาพที่คมชัดของทีวีดิจิตอล ผ่านวิธีการสื่อสารอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา บอกความต้องการและความคาดหวังให้เข้าใจชัดเจนทุกฝ่าย มีการทำบันทึกข้อตกลงพร้อมระบุเงื่อนไขหากสามารถทำได้หรือทำไม่ได้ไว้เป็นเครื่องมือที่เรียกว่า “การบริหารข้อตกลง”
ผู้บริหาร ผู้จัดการและหัวหน้าทุกคนต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่าเราไม่สามารถบังคับใครให้เปลี่ยนแปลงนิสัยและพฤติกรรมอย่างถาวรได้ หากคนๆ นั้นไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเขาเอง เราทำได้เพียงแค่บอกความต้องการของเราให้เขารับรู้ตั้งแต่แรก และคอยติดตามเฝ้าดูไม่ให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมขึ้น การให้โอกาสแก้ตัวตามสมควรเป็นสิ่งจำเป็นและการตักเตือนด้วยความเมตตากรุณาพร้อมให้คำแนะนำที่ถูกต้องด้วยความจริงใจก็มีโอกาสเปลี่ยนแปลงคนได้เช่นกัน แต่ถ้าทำทุกอย่างแล้วไม่เปลี่ยนแปลงก็ต้องรีบหาวิธีแยกคนๆ นั้นออกไปจากกลุ่มทันทีโดยไม่ต้องรอให้เขาทำความเสียหายให้เกิดขึ้นก่อน
คนอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพแวดล้อม คนอาจเปลี่ยนแปลงได้ถ้าได้รับการอบรมสั่งสอนที่ดีและมีการให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง ถ้าคนทำดีแล้วได้ดี ถ้าคนทำดีแล้วได้รับการยกย่องชมเชย จะทำให้คนๆ นั้นรู้สึกภาคภูมิใจและจะพยายามทำดีต่อไป คนดีก็จะมีเพิ่มมากขึ้นในสังคม ไม่ว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะมีความก้าวล้ำนำหน้าไปไกลแค่ไหนก็ตาม ความสำเร็จอย่างยั่งยืนของทุกองค์กรก็ยังคงฝากความหวังไว้กับความสามารถของ “คน” อยู่ดี
ณัฐ นิวาตานนท์
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ดี.จี. ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ผู้ขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตรายมืออาชีพ