เหตุผลในการเลือกซื้อสินค้าหรือใช้บริการใดๆ ควรตัดสินใจที่ “ความคุ้มค่า” หรือเมื่อสรุปได้ว่าประโยชน์ที่จะได้รับมากกว่าเงินที่เราจะต้องจ่าย โดยให้พยายามมองประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้มากกว่าการใช้อารมณ์และความรู้สึก เช่น สินค้านั้นตอบโจทย์ความต้องการตามความจำเป็นหรือไม่ ใช้งานง่าย ปราณีตเรียบร้อย ประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา ทนทาน ซ่อมสะดวก และปลอดภัยในการใช้ เป็นต้น
บ่อยครั้งที่เราตัดสินใจเลือกซื้อของต่างๆ ด้วยอารมณ์มากกว่าการใช้เหตุผลและพบว่าของบางอย่างแทบจะไม่เคยถูกหยิบออกมาใช้เลยสักครั้งเดียวหลังจากซื้อมา ถ้าเป็นคนที่มีความสามารถในการจ่ายก็คงจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่มันจะกลายเป็นปัญหาทันทีสำหรับคนที่ยังมีข้อจำกัดทางการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไปเอาเงินในอนาคตมาใช้ก่อนผ่านบัตรเครดิต
สิ่งของที่ซื้อมาแล้วไม่คุ้มค่าสามารถโยนทิ้งได้ง่าย ใช้บริการแล้วไม่ประทับใจถือว่าไม่คุ้มค่าก็ไม่ต้องไปอีก แต่การจ้างคนแล้วไม่คุ้มค่าจะเลิกจ้างกันง่ายๆ นั้นทำไม่ได้เพราะนอกจากจะมีกฏหมายคุ้มครองแรงงานที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องแล้ว คนยังมีความรู้สึกไม่พอใจและมีอารมณ์โกรธ แค้นเคืองและอาฆาตที่ต้องมีศิลปะในการจัดการกับสิ่งเหล่านี้อีกด้วย
การเลือกคนเข้ามาทำงานจึงต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติให้ดีก่อน ต้องมีกระบวนการทดสอบความรู้และทักษะต่างๆ รวมถึงการสัมภาษณ์และสอบประวัติเพื่อพิจารณาให้รอบคอบว่าถ้าจ้างเข้ามาแล้วจะทำงานได้คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปหรือไม่ และเมื่อจ้างเข้ามาแล้วก็ต้องมีการประเมินความคุ้มค่าอย่างต่อเนื่องด้วยไม่ว่าจะเป็นประเมินก่อนผ่านทดลองงาน ประเมินประจำเดือน ประจำไตรมาสหรือประจำปี
ความยากของการประเมินความคุ้มค่าของคนที่จ้างเข้ามาทำงานคือ การประเมินค่าผลงานหรือคุณค่าที่ได้รับจากการทำงานของคนๆ นั้น เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับผลตอบแทนที่จ่าย ซึ่งคนที่จะทำหน้าที่ประเมินความคุ้มค่าเช่นนี้ได้จะต้องเป็นผู้ที่รู้จักและเข้าใจในงานของคนที่ถูกประเมินอย่างลึกซึ้ง
การประเมินผลงานในหลายๆ องค์กรจึงถูกนำไปใช้เป็นเพียงแค่พิธีกรรมตามประเพณีที่ต้องทำส่งฝ่ายทรัพยากรบุคคลทุกปีและเป็นการใช้ดุลยพินิจและความรู้สึกของผู้ประเมินเป็นหลัก แต่ไม่สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือวัดความคุ้มค่าที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรได้อย่างแท้จริงและผลการประเมินก็ไม่สามารถนำไปใช้ต่อยอดเพื่อการพัฒนาความสามารถของคนได้อย่างเป็นรูปธรรม
การสร้างระบบประเมินความคุ้มค่าของการจ้างคนหรือที่มักเรียกว่า การประเมินสมรรถนะ (Performance Appraisal) จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งเพราะนอกจากจะทำให้องค์กรได้ผลงานตามที่ต้องการและรับรู้มุมมองสะท้อนกลับต่างๆ จากพนักงานแล้ว ยังจะช่วยทำให้พนักงานได้รับรู้สิ่งที่พวกเขาจะต้องนำไปแก้ไข ปรับปรุงและพัฒนา เปรียบเสมือนเป็นการส่องกระจกซึ่งกันและกัน ทำให้องค์กรรับรู้ภาพของตนในสายตาพนักงานและพนักงานก็รับรู้ภาพของตัวเองในสายตาของหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานด้วย
พึงระลึกไว้เสมอว่า “สินค้าและบริการที่ดีมีให้เราเลือกซื้อมากมายเพราะผู้ขายตั้งใจสร้างและพัฒนามันขึ้นมาเพื่อขาย แต่คนเก่งและคนดีถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเก็บรักษาไว้อย่างทนุถนอม ไม่ได้มีไว้ขาย” เพราะฉะนั้น การที่จะได้คนเก่ง คนดีและมีความคุ้มค่า ถ้ามัวแต่รอค้นหาคงไม่เจอง่ายๆ แน่ วิธีที่ดีที่สุดคือต้องสร้างขึ้นมาเอง
ณัฐ นิวาตานนท์
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ดี.จี. ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ผู้ขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตรายมืออาชีพ