“ความอยาก” “ความต้องการ” และ “ความปรารถนา” เมื่อลองเปิดหาความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานดูว่าแตกต่างกันอย่างไร เราจะพบคำอธิบายว่า อยาก หมายถึง ต้องการ ต้องการ หมายถึง ปรารถนา และปรารถนา หมายถึง อยาก สรุปว่าทั้งสามคำมีความหมายเหมือนกัน แต่ถ้าเราลองสังเกตในชีวิตประจำวันดูจะพบว่า ความอยาก จะถูกใช้บ่อยกว่าเพื่อน ทั้งที่ตั้งใจและใช้ไปโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นความอยากในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น อยากกินก๋วยเตี๋ยว อยากไปเที่ยวทะเล อยากนอนหลับสักงีบ อยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากรู้ อยากเห็นสารพัดอย่างที่ผุดขึ้นมามากมายในแต่ละวัน หรือแม้กระทั่งอยากในเรื่องใหญ่ๆ เช่น อยากรวย อยากเด่น อยากดัง
ความอยากมีได้ทั้งด้านบวกและลบ สามารถวัดได้จากผลของการกระทำที่เกิดจากความอยาก ถ้าไม่ทำให้ตัวเองและผู้อื่นเดือดร้อนหรือยิ่งถ้าทำให้ตัวเองและผู้อื่นดีขึ้น ความอยากเช่นนั้นถือว่าเป็นความอยากด้านบวก แต่ถ้าทำให้ตัวเองและผู้อื่นเดือดร้อน ความอยากเช่นนั้นจะถือว่าเป็นความอยากด้านลบ หรือที่เรามักเรียกว่า ตัณหา ตามหลักพระพุทธศาสนา
ความอยากที่ไม่ส่งผลให้เกิดการกระทำที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ย่อมไม่ต่างอะไรกับการฝันกลางวัน นั่งเหม่อลอย อมยิ้มราวกับว่าสิ่งที่อยากได้ อยากมี หรืออยากเป็นนั้นได้เกิดขึ้นกับตัวเองแล้วจริงๆ พอสะดุ้งตื่นก็ยังดำเนินชีวิตไปตามวิถีเดิมๆ ต่อไป ความอยากเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นด้านลบด้วยเช่นกันแม้ว่าจะไม่ทำให้ใครเดือดร้อนก็ตาม เพราะถ้าทำบ่อยๆ จะทำให้ชีวิตตัวเองตกต่ำลงอย่างแน่นอน ดังนั้น ความอยากด้านบวกจึงเป็นอารมณ์ที่ทุกคนควรกระตุ้นให้เกิดขึ้นกับตัวเองอยู่เสมอและใช้มันเป็นแรงขับเคลื่อนชีวิตให้เจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ส่วนจะไปในทิศทางไหนย่อมขึ้นอยู่กับความชอบ ความถนัด วิสัยทัศน์และเป้าหมายของแต่ละคน
เมื่อความอยากด้านบวกเกิดขึ้นแล้ว ย่อมส่งผลให้เกิดความต้องการตามมา ยิ่งอยากมากก็ยิ่งต้องการมาก ยิ่งต้องการมากก็ยิ่งขนขวายมาก กระตือรือร้นมาก ใฝ่รู้และมุ่งมั่นมากเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามที่ต้องการและสิ่งที่ต้องการนั้นมักจะเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตตัวเอง เพื่อประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก เช่น ต้องการอาหารเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด ต้องการที่อยู่อาศัยเพื่อให้ตัวเองปลอดภัย ต้องการสังคมเพื่อนฝูงเพื่อให้ตัวเองไม่เหงา ต้องการให้ผู้อื่นเคารพยกย่องเพื่อให้ตัวเองภูมิใจ ต้องการความร่ำรวยเพื่อให้ตัวเองสุขสบาย ต้องการเป็นในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าสามารถเป็นได้ตามทฤษฎีของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs)
แม้ว่าในพจนานุกรมจะให้ความหมายของคำว่า ต้องการ และ ปรารถนา เหมือนๆ กันก็ตาม แต่ในบริบทของชีวิตจริง คำว่า ปรารถนา มักถูกใช้เมื่อต้องการที่จะมอบสิ่งดีๆ ให้แก่ผู้อื่นมากกว่า ซึ่งเราจะเห็นบ่อยๆ ในการ์ดอวยพรหรือจากคำกล่าวอวยพรแสดงความชื่นชมยินดีในงานต่างๆ ดังนั้น หากให้ความหมายของคำว่า ปรารถนา คือความหวังดีและต้องการเห็นผู้อื่นได้ดีหรือต้องการทำดีเพื่อผู้อื่นแล้ว ย่อมทำให้เราเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงได้ว่า ความปรารถเป็นเหตุทำให้เกิดความอยากนั่นเอง
เมื่อเข้าใจความสัมพันธ์ของคำว่า ความปรารถนา ความอยาก และ ความต้องการ เช่นนี้แล้ว เราจะเข้าใจมากขึ้นว่า เหตุใดคนบางคนจึงมีความมุ่งมั่นในชีวิตมาก ทำไมบางคนถึงมีความมุ่งมั่นในชีวิตน้อยกว่า ให้ลองกลับไปสังเกตดูแล้วคุณจะพบว่าคนที่มุ่งมั่นมากเหล่านั้น เขาจะต้องมีใครบางคนที่เขาปรารถนาดี ต้องการให้คนเหล่านั้นมีความสุขจากความสำเร็จของเขา ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ สามีภรรยา ลูกหรือคนที่เขารักสุดหัวใจ ถ้าวันนี้ คุณยังเป็นคนหนึ่งที่มีพลังขับเคลื่อนชีวิตจากความอยากด้านบวกน้อยไปหน่อย ลองหาใครสักคนที่คุณรักและตั้งเป้าหมายปรารถนาให้เขาเหล่านั้นมีความสุขอย่างแท้จริง ผมเชื่อว่ามันอาจจะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับชีวิตของคุณก็ได้นะครับ
ณัฐ นิวาตานนท์
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ดี.จี. ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ผู้ให้บริการขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตรายมืออาชีพ