คนเราทุกคนเกิดมาย่อมเคยถูกตำหนิว่า “ทำอะไรไม่รู้จักคิด” กันมาบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคงไม่มีใครหรอกที่ทำอะไรลงไปโดยไม่ได้คิดเลยแม้แต่นิดเดียว ส่วนใหญ่น่าจะเป็นประเภทคิดไม่ถึง คิดน้อยไปหน่อยเพราะความคึกคะนอง หรือขาดประสบการณ์ หรืออาจทำไปเพราะขาดสติชั่ววูบทำให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผลชั่วขณะ ถ้าเหตุการณ์นั้นเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ ก็คงไม่เป็นไรถือเสียว่าเป็นบทเรียนชีวิต แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ คิดไม่รอบคอบครั้งเดียวก็อาจทำให้ชีวิตดับดิ้นหรือพลิกผันไปเลยได้เหมือนกัน
ในแต่ละวัน คนเราจะมีเรื่องราวมากมายเข้ามาให้สมองได้ขบคิดและตัดสินใจเป็นร้อยเป็นพันเรื่อง ทั้งเรื่องมีสาระและเรื่องไร้สาระปะปนกันไป และเราคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “คุณภาพชีวิตขึ้นอยู่กับคุณภาพของความคิด” ถ้าใครคิดดี คิดเก่ง ชีวิตก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่า ซึ่งเรื่องนี้ฟังดูน่าจะเป็นเรื่องจริงเพราะมันสมเหตุสมผล แต่ปัญหาคือ...แล้วจะต้องคิดอย่างไรล่ะถึงจะเรียกว่า คิดเก่ง คิดดี คิดอย่างมีคุณภาพ
ผมจึงขอแนะนำวิธีคิดอย่างมีคุณภาพที่เรียกว่า “การคิดแบบคาดการณ์” หรือ Anticipatory Thinking มาให้ลองฝึกฝนกันดู ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นทักษะการคิดขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่จะช่วยทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตทุกด้านได้ด้วยความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ทำงานในธุรกิจด้านการขนส่งวัตถุอันตรายหรือสารเคมี โดยเริ่มต้นเพียงแค่การตั้งคำถามง่ายๆ กับตัวเองบ่อยๆว่า “อะไรจะเกิดขึ้น ถ้า...มีเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นกับชีวิต” หรือ What if… เช่น
ลองสังเกตผู้นำหรือผู้บริหารที่เก่ง เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยที่มีความตระหนักด้านความปลอดภัยดีเยี่ยม คนที่ขับรถด้วยความมีวินัยและมีความรับผิดชอบต่อสังคม หรือคนทำงานไม่ว่าในอาชีพใดๆ ก็ตามที่ประสบความสำเร็จ คนเหล่านั้นมักจะมีคุณลักษณะอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ มีทักษะการคิดแบบคาดการณ์ดี ซึ่งไม่ใช่ว่ามีแค่การคาดการณ์เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องรู้ด้วยว่า “เราจะต้องทำอะไรต่อไป” หรือ What’s next และ “เราจะต้องทำอะไรเพิ่มเติมอีก” หรือ What’s else ด้วย รวมทั้งมีกระบวนการทำให้เกิดขึ้นได้จริงอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการวางแผน ลงมือทำ ตรวจสอบและประเมินผลเพื่อแก้ไขปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เช่น ถ้าไม่อยากถูกเลิกจ้าง ก็ต้องตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด ทำผลงานให้เป็นไปตามเป้าหมายขององค์กร แต่ถ้ากังวลเรื่องความไม่มั่นคงขององค์กรก็ต้องรู้จักวางแผนเก็บเงินสำรองให้เพียงพอเพื่อรับกับสถานการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นพร้อมๆ กับสร้างโอกาสมองหางานใหม่ที่มั่นคงกว่าให้กับตัวเองด้วย
การคิดแบบคาดการณ์สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการวางแผนเชิงป้องกันได้ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นการขับรถเชิงป้องกันอันตราย การบำรุงรักษาเครื่องจักรเชิงป้องกัน การบริหารความเสี่ยงทุกด้าน การบริหารธุรกิจทุกประเภท ไม่เว้นแม้แต่การใช้ชีวิตในครอบครัว ในหมู่เพื่อนฝูงและในสังคม หรือการดูแลรักษาสุขภาพของตัวเอง
นิสัยหรือพฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการคิดแบบคาดการณ์คือ ขี้เกียจ มักง่ายและผัดวันประกันพรุ่ง คนบางคนขี้เกียจแม้แต่จะคิดยังไม่ยอมทำ บางคนคิดได้แต่ชอบคิดบวกเชิงลบ ชอบคิดว่าไม่เป็นไร คงไม่เกิดขึ้นหรอก มองไม่เป็นปัญหาหรือมั่นใจในตัวเองมากเกินไปจนประมาท บางคนคิดได้อย่างดีแต่ชอบรอเดี๋ยวก่อน ไม่ลงมือทำทันที ซึ่งคนแบบนี้หากไม่เปลี่ยนนิสัยหรือพฤติกรรม ชีวิตนี้คงต้องรอให้ปัญหาเป็นแรงขับเคลื่อนชีวิตต่อไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังโชคดีที่ยังมีโอกาสได้แก้ตัว
แต่ถ้าใครคิดว่าสามารถปรับตัวได้ ไม่ต้องการรอให้ปัญหาวิกฤตเกิดขึ้นกับตัวเองก่อน ขอให้ลองนำหลักคิดนี้ไปใช้ดู รับรองเห็นผลภายใน 30 วันอย่างแน่นอน
ณัฐ นิวาตานนท์
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ดี.จี.ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ผู้ขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตรายมืออาชีพ