ในการบริหารเวลา นอกจากการจัดสรรกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การพักผ่อน การนอนหลับและกิจกรรมอื่นๆ ให้เหมาะสมกับเวลาที่มีอยู่วันละ 24 ชั่วโมงแล้ว เราควรเอาใจใส่และให้ความสำคัญกับวิธีปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการทำกิจกรรมเหล่านั้นด้วย จึงจะเรียกได้ว่า “บริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
คำแนะนำพื้นฐานที่เรามักได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ในเรื่องของการบริหารเวลา เช่น การมีเป้าหมายที่ชัดเจน รู้วิธีจัดลำดับความสำคัญของงาน ต้องทำในสิ่งที่สำคัญก่อนเสมอ รวมถึงการมีวินัยและเลิกนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง ซึ่งหากนำไปปฏิบัติแล้ว ผลลัพธ์มันยังออกมาไม่ดีและไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ ย่อมถือว่าการบริหารเวลาของเรายังไม่มีประสิทธิภาพดีพอ เปรียบเสมือนนักมวยลีลาดีแต่ต่อยไม่โดนคู่ต่อสู้ อาจถูกน๊อคได้เหมือนกัน
การพิจารณาว่าการทำกิจกรรมใด “มีประสิทธิภาพ” หรือไม่ จึงต้องดูที่ผลลัพธ์เป็นสำคัญ เช่น
- มีคุณภาพดี คุ้มค่ากับการลงทุนลงแรงไปหรือไม่
- มีคุณค่าสมควรทำต่อไปหรือไม่
- มีความปลอดภัยหรือเสี่ยงเกินไปหรือไม่
- ขัดต่อศีลธรรมอันดีและวัฒนธรรมในสังคมหรือไม่
- ขัดต่อกฏหมายหรือไม่
- ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่
- และสำคัญที่สุดคือ “ทำเสร็จภายในระยะเวลาที่ต้องการด้วยหรือไม่”
ดังนั้น ความหมายของ การบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ จึงหมายถึง การใช้เวลาเพื่อทำกิจกรรมที่จัดสรรไว้ให้มีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่าง เช่น การนอนหลับ เราจำเป็นต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพในการนอนหลับ ซึ่งโดยปกติคนเราต้องการช่วงเวลาที่หลับสนิทอย่างน้อยวันละ 4 ชั่วโมงและช่วงเวลาทองคือระหว่าง 4 ทุ่มถึงตีสอง ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายมีการจัดระบบสมดุล สร้างการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายได้ดีที่สุด
ความคุ้มค่าและคุณค่าของการนอนหลับ เชื่อว่าทุกคนคงเห็นประโยชน์และใส่ใจกันดีอยู่แล้วเพียงแต่นอนให้เพียงพอ ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป และเราควรเลือกที่นอนหลับให้มีความปลอดภัยที่ไม่ใช่เพียงแค่ปลอดภัยจากการถูกทำร้ายหรือลักหลับ แต่ควรคำนึงถึงที่นอนที่ต้องมีความเหมาะสมกับสรีระร่างกาย นอนแล้วไม่ปวดหลัง เมื่อยล้า รวมถึงความสะอาดของห้องนอน ที่นอน หมอน ผ้าห่มซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพของเราโดยตรงอีกด้วย
การพักผ่อนก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่เราควรคำนึงถึงประสิทธิภาพเช่นกัน การใช้เวลาไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ นอกจากความสุข ความสนุกสนานและความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวหรือหมู่เพื่อนฝูงที่เราคาดหวังแล้ว เรายังต้องใส่ใจกับคุณภาพและความปลอดภัยในการเดินทางและสถานที่ที่จะไปด้วย ยิ่งถ้าการไปเที่ยวพักผ่อนแล้วได้รับความรู้หรือเกิดมุมมองใหม่ๆ กลับมาใช้พัฒนาตัวเองหรือสร้างแรงบันดาลใจในชีวิตเพิ่มขึ้นด้วยยิ่งดี แต่ที่สำคัญ ต้องไม่ไปเที่ยวสร้างปัญหาหรือไปเที่ยวสร้างความเดือดร้อนให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อม
บางคนเลือกการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ บางคนไปท่องเที่ยวด้วยการขี่จักรยาน ซึ่งเป็นการออกกำลังกายไปในตัว บางคนท่องเที่ยวแบบจิตอาสาได้ช่วยเหลือสังคมไปด้วย บางคนเลือกไปเที่ยววัด ได้ไหว้พระและทำบุญเพื่อทำจิตใจให้สงบ สร้างความหวังและเสริมกำลังใจให้เพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะเลือกการพักผ่อนแบบใด ขอให้คำนึงถึงความคุ้มค่าด้วย ไม่ใช่กลับมาแล้วเครียดเพิ่มขึ้นเพราะเป็นหนี้จากการไปเที่ยวหรือทำให้เสียงานเสียการเนื่องจากอ่อนเพลียเพราะเที่ยวเพลินนานเกินไป ดังนั้น การพักผ่อนที่ดีจึงเปรียบเสมือนการชาร์จแบตเตอรี่เพื่อให้เรามีพลังงานเต็มเปี่ยมไว้ใช้ในกิจกรรมหลักของชีวิตต่อไป
ตราบใดก็ตามที่เรายังไม่มีอิสรภาพทางการเงินอย่างแท้จริง กิจกรรมหลักที่สำคัญที่สุดในชีวิตยังคงเป็นเรื่องการทำงานอย่างแน่นอน ฉะนั้น การทำงานให้มีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุด ใช้เวลาในการเรียนรู้ ฝึกฝน เสริมสร้างทักษะและประสบการณ์เพื่อให้ประสบความสำเร็จก่อนที่จะไม่เหลือเวลาให้ใช้ เราควรใช้ชีวิตบนความไม่ประมาท ฝึกคิดลบเชิงบวกบ่อยๆ อย่าคิดบวกเชิงลบเพราะจะทำให้เราไม่กระตือรือร้น “พยายามเครียด...เวลาที่ชีวิตยังไม่เครียด ดีกว่า พยายามไม่เครียด...เวลาที่ชีวิตเครียด”
“เวลา” เป็นเงื่อนไขสำคัญในทุกกิจกรรมของชีวิต แต่ที่น่าแปลกใจคือคนส่วนใหญ่มักมองข้ามความสำคัญของเวลาแล้วใช้มันอย่างฟุ่มเฟือย คิดน้อยมากและไม่รู้สึกเสียดายเวลาที่ถูกใช้ไปกับเรื่องไร้สาระและไม่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง รู้สึกเสียดายเวลาที่เสียไปกับสิ่งเหล่านั้นน้อยกว่าเสียดายเงินซื้อข้าวของที่ไม่จำเป็นในชีวิต ทั้งๆที่เงินใช้หมดไปก็ยังมีโอกาสหาใหม่ได้ แต่เวลาที่ใช้หมดไป ไม่มีวันเรียกกลับคืนได้อีกเลย ทำได้เพียงแค่เก็บไว้ในความทรงจำและภาพถ่ายระบุวันที่ไว้เท่านั้น
ถ้าไม่อยากกลุ้มตอนแก่ ขอแนะนำให้รีบบริหารเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อทำกิจกรรมทุกอย่างในชีวิตให้มีประสิทธิภาพตั้งแต่ตอนนี้เลยนะครับ
ณัฐ นิวาตานนท์
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ดี.จี.ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ผู้ขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตรายมืออาชีพ