การที่เรามีความสามารถในการทำสิ่งใดๆ ได้ในระดับพื้นฐาน เช่น คิดได้ อ่านได้ เขียนได้ พูดได้ ฟังได้ กินได้ เดินได้ วิ่งได้ ทำงานได้ แต่ไม่เก่ง อาจช่วยทำให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือหรือดูแลเป็นพิเศษจากคนอื่น แต่ถ้าเราต้องการความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในชีวิตในด้านใดด้านหนึ่ง เราต้องมีความสามารถในด้านนั้นเป็นอย่างดีและต้องดีในระดับที่ได้รับการยอมรับจากผู้อื่นด้วย
คนเราไม่จำเป็นต้องมีความสามารถดีทุกด้านหรือเก่งทุกเรื่อง แต่เราควรเก่งในเรื่องที่เราสนใจและตรงกับความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเราให้มากที่สุด แล้วพัฒนาขีดความสามารถของเราในเรื่องเหล่านั้นให้กลายเป็นจุดแข็งที่โดดเด่น ยิ่งเรารู้และเริ่มต้นได้เร็วเท่าไหร่ โอกาสสำเร็จก็จะยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น
ความสามารถในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ดี หรือ Competence เรียกย่อๆ ว่า ซี จึงน่าจะเป็นความหมายที่นิยมใช้บ่งบอกระดับความสามารถของคนทำงานทั้งหน่วยงานราชการและบริษัทเอกชน ยิ่งซีสูงเท่าไหร่ ขีดความสามารถของคนๆ นั้น ยิ่งมีมากและคงต้องมีความสามารถดีหลากหลายด้านอีกด้วย
ฉะนั้น ถ้าเรารู้แล้วว่าชีวิตนี้จะ “เอาดีทางด้านไหน” ก็ขอให้เริ่มพัฒนาความสามารถของตัวเองในด้านนั้นอย่างเต็มที่ ด้วยการพัฒนาปัจจัยต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของ “ความสามารถ” ที่เขียนออกมาเป็นสูตรให้จำได้ง่ายๆ ดังนี้ Competence C = KES
K มี 2 ตัว ได้แก่ Knowledge หรือ ความรู้ ซึ่งเป็นพื้นฐานขั้นต้นของคนที่จะได้รับการยอมรับว่า มีความสามารถดี ในด้านใดก็ตาม ต้องรู้ลึก รู้รอบ รู้จริงและสามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยรู้เทคนิควิธีการที่จะทำให้ถูกต้อง ที่เรียกว่า มี Know how ไม่ใช่แค่เรียนรู้แบบท่องได้ จำได้...แต่ทำไม่เป็นหรือผลงานออกมาไม่ดี
E Experience หรือประสบการณ์ ที่ไม่ใช่การนับระยะเวลาว่าทำเรื่องนั้นมานาน แต่ต้องดูที่สิ่งเรียนรู้และบทเรียนที่ได้รับจากการลงมือทำเรื่องนั้นๆ ในอดีตที่ผ่านมาว่ามีมากน้อยแค่ไหน “สามารถเปลี่ยนเหตุการณ์ที่ประสบให้เป็นประสบการณ์ได้หรือไม่” ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะเรียนรู้จากความผิดพลาดมากกว่าความสำเร็จ คนที่มีประสบการณ์มากคือ คนที่เคยทำผิดพลาดมาเยอะ โดนน้ำร้อนลวกมาก่อน แต่ต้องไม่ใช่ผิดพลาดซ้ำซาก เมื่อมีประสบการณ์มาก ความสามารถย่อมมีมากตามไปด้วย
S3 Skill หรือ ความถนัด มี 3 ด้านได้แก่
Technical Skill หรือความถนัดด้านเทคนิคและวิธีการ ซึ่งสิ่งที่เราควรเลือกพัฒนาให้เป็นจุดแข็งควรสอดคล้องกับความถนัดของเรา เช่น ถ้าเราเป็นคนช่างพูด ช่างเจรจา เล่าเรื่องได้ดี ก็ควรเลือกทำงานที่มีโอกาสได้ใช้ความถนัดนั้นให้เป็นประโยชน์ หลังจากนั้นก็ ฝึกฝน ฝึกฝนและฝึกฝนจนชำนาญ การพยายามฝืนธรรมชาติและทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับความเป็นตัวตนที่แท้จริงของตัวเองเป็นหนทางสู่ความล้มเหลวในชีวิต เปรียบเสมือนคนตัวเตี้ยอยากเล่นฟุตบอลตำแหน่งผู้รักษาประตู
Human Skill หรือความถนัดด้านบุคคล ซึ่งเป็นความถนัดที่สำคัญที่สุดเพราะในการทำงานไม่ว่าด้านใดก็ตามให้สำเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากผู้อื่นเสมอ คนที่ไม่ถนัดด้านบุคคล มนุษย์สัมพันธ์ไม่ดี เอาเปรียบผู้อื่น เห็นแก่ตัว ไม่ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ย่อมยากที่จะพัฒนาให้เป็นคนที่มีความสามารถดีจนเป็นที่ยอมรับของคนอื่นได้
Conceptual Skill หรือความถนัดด้านหลักการ ซึ่งเกี่ยวข้องเชื่อมโยงโดยตรงกับทัศนคติที่อยู่เบื้องหลังความคิด และวัตถุประสงค์ในการคิดของคนคือ “หาคำตอบประกอบการตัดสินใจ” หากการคิดของเราไม่อยู่บนหลักการและเหตุผลที่ถูกต้อง คำตอบที่คิดได้ก็จะผิดพลาดคลาดเคลื่อน นำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดตามไปด้วย ดังนั้น หากต้องการเป็นคนที่มีความสามารถดี ต้องพัฒนาวิธีคิดให้มีหลักการและสมเหตุสมผลด้วย
เมื่อรู้แนวทางที่จะพัฒนาตัวเองให้มีความสามารถมากขึ้นแล้ว หากใครยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการเอาดีด้านไหน ก็ขอให้รีบค้นหาให้เจอโดยเร็ว หรือไม่ก็ตัดสินใจเอาดีในสิ่งที่กำลังทำอยู่เลยก็ได้ แล้วรีบลงมือทำตามหลัก 5 ท คือ ทะเยอทะยาน ทุ่มเท ทบทวน เที่ยงธรรม และทำทันที เดี๋ยวนี้เลยครับ
ณัฐ นิวาตานนท์
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ดี.จี.ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ผู้ขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตรายมืออาชีพ