ลองสังเกตนักกีฬามืออาชีพทุกประเภทก่อนที่จะลงสนามแข่ง พวกเขาจะต้องมีกระบวนการเตรียมความพร้อมของร่างกายด้วยการยืดเส้นยืดสายและสร้างความอบอุ่นก่อนเสมอ หรือนักกอล์ฟที่จะต้องมีขั้นตอนบางอย่างตามสไตล์ของแต่ละคนเพื่อสร้างความมั่นใจก่อนตีลูกทุกครั้ง เช่นเดียวกับพนักงานขับรถมืออาชีพที่ทุกคนที่จะต้องมีขั้นตอนการตรวจเช็คสภาพความพร้อมของรถก่อนออกเดินทางทุกเที่ยว ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ถือว่าเป็นขั้นตอนที่ต้องทำเป็นประจำที่หลายคนนิยมเรียกทับศัพท์กันว่า รูทีน
“งานรูทีน” เป็นคำที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ ในที่ทำงาน ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Routine work และพจนานุกรมส่วนใหญ่จะแปลว่า งานประจำ และเมื่อพูดถึงงานประจำ เรามักเข้าใจว่าเป็นลักษณะการจ้างงานแบบประจำ ไม่ใช่การจ้างแบบชั่วคราว เราจึงหลีกเลี่ยงมาใช้คำทับศัพท์ว่า งานรูทีน แทน แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่างานรูทีนเป็นงานเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ค่อยมีความสำคัญ เช่น งานเสมียนหรืองานธุรการ เป็นต้น
อันที่จริง ความหมายที่ถูกต้องของ งานรูทีน ก็คือ งานหลักที่ต้องทำเป็นประจำ และเมื่อทุกคนเข้าใจตรงกันแล้ว เราก็จะพบว่าทุกตำแหน่งงานไม่ว่าจะเป็นประธานบริษัท ผู้บริหารองค์กร ผู้จัดการหรือพนักงานระดับปฏิบัติการในธุรกิจใดก็ตาม ทุกคนย่อมต้องมีงานรูทีนของตัวเองซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การทำงานตามขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบเท่าที่ระบุไว้ในใบกำหนดหน้าที่งาน หรือที่นิยมเรียกทับศัพท์อีกเช่นกันว่า Job description เท่านั้น
รูทีนในการทำงานของคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต จะเริ่มต้นตั้งแต่ตื่นนอนแต่เช้าด้วยการทำกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนไปทำงานที่แน่นอน เช่น การออกกำลังกาย การทานอาหารที่มีประโยชน์ หรือ การวางแผนการเดินทาง และเมื่อถึงที่ทำงานแล้วก็จะมีการวางแผนจัดลำดับความสำคัญของงานเป็นรูทีนก่อนเริ่มงานเสมอ ระหว่างการทำงานก็จะมีรูทีนในการตรวจสอบว่างานที่กำลังทำนั้นสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ต้องการหรือไม่ มีการตรวจสอบความคืบหน้าของงานอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงมีการสรุปผลงานในแต่ละวันเป็นรูทีนก่อนเลิกงานอีกด้วย
ใครก็ตามที่มัวแต่ปล่อยให้งานเร่งด่วนที่เกิดจากคำสั่งของผู้อื่นหรือปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซากในแต่ละวันมาเป็นงานรูทีนหรืองานหลักของตัวเอง ชีวิตของคนๆ นั้นย่อมเปรียบเสมือนติดกับดัก ที่ต้องทำงานทั้งเหนื่อยและหนัก แต่ก็ไม่ได้ช่วยทำให้มีโอกาสก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในชีวิตได้เลย สุดท้ายก็ต้องมานั่งเสียใจ น้อยใจแล้วก็ลาออกไปหางานใหม่เพื่อที่จะได้ไปเจอกับสภาวะการทำงานเช่นเดิมเพราะสาเหตุที่แท้จริงมันมาจากรูทีนในการทำงานที่ไม่ถูกต้องเพราะไม่ได้มีการจัดสรรเวลาในการพัฒนาตัวเองเอาไว้เลย
ณัฐ นิวาตานนท์
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ดี.จี. ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ผู้ขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตรายมืออาชีพ