สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเราต้องเผชิญชะตากรรมที่ยากลำบากในชีวิตมักเกิดจาก การที่คนเหล่านั้นไม่สามารถยับยั้งพฤติกรรมที่เกิดจากการขาดสติเพราะอารมณ์ชั่ววูบเมื่อได้รับสิ่งเร้าที่ไม่พึงประสงค์จากภายนอกได้ เช่น การถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือต้องติดคุกติดตะรางจากใช้ปืนข่มขู่ชาวบ้านหรือทำร้ายร่างกายผู้อื่นเพราะ “ความโกรธ” หรือต้องล้มละลายจากการกู้หนี้ยืมสินจำนวนมากไปใช้กับการลงทุนในสิ่งที่ไม่มีคุณค่าหรือไม่จำเป็นอย่างแท้จริงในชีวิตเพราะความไม่รู้จักพอที่เรียกว่า “ความโลภ” หรือต้องยากจนข้นแค้น ต้องพบกับปัญหามากมาย ไม่เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานเพราะมัวแต่ขี้เกียจ ชอบความสบาย ไร้วินัย หรือไม่ทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม ที่เรียกว่า “ความหลง”
อันที่จริงความโลภ ความโกรธ ความหลงหรือที่เรียกรวมกันว่า “กิเลส” เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจปุถุชนคนธรรมดาได้ทุกคน ทุกที่และทุกเวลาอยู่แล้ว แต่ลำพังด้วยตัวมันเองไม่อาจส่งผลกระทบให้เกิดการแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้ทันทีหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ช่วยอีก 2 แรง คือ ความอยากหรือความไม่อยาก ที่รวมเรียกว่า “ตัณหา” และ ความยึดมั่นถือมั่นเอามาเป็นของตน ที่เรียกว่า “อุปาทาน” ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่ทั้งสามตัวนี้ประสานงานร่วมกันอย่างลงตัว มันจะเกิดเป็นพลังขับเคลื่อนพฤติกรรมลบออกมาทันที
ฉะนั้น ในจิตใจของคนเราจึงต้องมีระบบภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า “การยับยั้งชั่งใจ” โดยมีสติเป็นผู้ควบคุมตลอดเวลา และการมีสติที่เข้มแข็งเท่านั้นที่จะช่วยทำให้เรามีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ทำให้เรารู้เท่าทันความรู้สึกและอารมณ์ของตนเองว่าอยู่ในขั้นไหนแล้ว และสามารถยับยั้งการทำปฏิกริยากับตัณหาเพื่อสกัดกั้นอุปาทานที่จะเกิดขึ้นตามมา ทำให้เรามีพฤติกรรมในการดำรงชีวิตที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมและมีความยืดหยุ่นต่อสิ่งเร้าภายนอกมากพอที่จะไม่ทำให้พฤติกรรมของเราเบี่ยงเบน
ภาวะปกติทางใจ นอกจากจะเป็นภาวะที่ปราศจากความรู้สึกที่ทนได้ยากแล้ว มันยังหมายรวมถึงภาวะที่เราต้องไม่รู้สึกดีใจหรือเริงร่าเกินไปเมื่อมีสิ่งใดเข้ามากระทบกับประสาทสัมผัสทั้ง 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เพราะมันอาจทำให้เราเกิดอคติขึ้นได้ ไม่ว่าจะเกิดจากความรักชอบ ความเกลียด ความกลัว หรือความหลงก็ตาม
การฝึกฝนให้ตนเองมีภาวะปกติทางใจอยู่เสมอจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่ทำงานที่มุ่งเน้นให้พนักงานทุกคนทำงานร่วมกันเป็นทีม เน้นให้ทุกคนทำงานด้วยความสุข มีความเมตตากรุณาและมีความเอื้ออาทรต่อกัน ซึ่งสภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ในองค์กรใดนั้นย่อมต้องมีจุดเริ่มต้นจากผู้นำเป็นสำคัญ
ดังนั้น ความสามารถในการควบคุมตนเองให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว หรือ Resilience จึงเป็นคุณลักษณะนิสัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้นำองค์กรทุกคนควรมี ซึ่งแท้จริงแล้วหลักการดังกล่าวก็คือ อริยสัจ 4 และหลักมัชฌิมาปฏิปทา หรือ ทางสายกลางตามหลักธรรมคำสอนที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้มาแล้วกว่า 2,500 ปี นั่นเอง
ณัฐ นิวาตานนท์
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ดี.จี. ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ผู้ขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตรายมืออาชีพ