ข้อคิดและหลักการบริหารเพื่อการพัฒนา

บทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ

25 Mar 2019
แชร์ :




   “เปรียบชีวิตเป็นดังบทละคร จะยอมให้ใครเขียนบทของเรา ชีวิตจะเป็นเช่นไร ก็ขอให้เป็นเพราะเรา เรื่องราวที่เราต้องเขียน” เนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลง “ชีวิตลิขิตเอง” ของพี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ ที่มีการเปรียบเทียบชีวิตของคนเราเหมือนบทละคร และควรเป็นบทละครที่เราเป็นผู้แต่งเอง กำหนดบทบาทของตัวเองว่าต้องการเป็นพระเอก นางเอก พระรอง ผู้ร้าย หรือตัวตลก รวมทั้งเขียนเนื้อเรื่องเองตั้งแต่ต้นจนจบให้เป็นไปตามที่เราต้องการหรือวาดฝันไว้ ที่หลายๆ คนมักชอบเรียกว่า การมีเป้าหมายในชีวิต นั่นเอง

   บทบาทแรกในชีวิตที่ทุกคนต้องเป็นคือ “ลูก” และตามมาด้วยบทพี่ น้อง หลาน เหลน โหลน น้าอาลุงป้า ก่อนจะข้ามขั้นไปเป็น พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และทวดตามลำดับความอาวุโสภายในครอบครัว นอกจากนั้น ยังมีบทบาทที่ต้องเป็นเมื่ออยู่ในสังคมและในที่ทำงาน เช่น เป็นนักเรียน เป็นเพื่อน เป็นคนไทย เป็นลูกน้อง เป็นหัวหน้า รวมถึงบทบาทที่ต้องเป็นตามอาชีพที่เลือก เช่น เป็นหมอ เป็นวิศวกร เป็นนักบัญชี เป็นครู เป็นนักการเมืองและอื่นๆ อีกมากมาย

   คนเราเกิดมาชั่วชีวิตหนึ่งจะมีบทบาทที่ต้องเล่นมากมายและบ่อยครั้งที่ต้องเล่นหลายๆ บทบาทในเวลาเดียวกันซึ่งการที่จะเล่นให้สมบทบาทนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องรู้ว่า “หน้าที่” ที่ถูกต้องและเหมาะสมที่ต้องทำในขณะที่สวมบทบาทนั้นๆ คืออะไร บางคนอาจเกิดมาโชคดีมีพ่อแม่ดี มีครูดี มีหัวหน้าดี คอยอบรมสั่งสอนให้ทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง บางคนแม้ว่าเกิดมาจะไม่ได้รับการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนที่ดีมากนักในครอบครัว แต่ก็สามารถขวนขวายศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองและมีวิจารณญาณที่ดีสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่างมากมายเช่นกัน

   ในสังคมปัจจุบัน มีคนที่รู้บทบาทและหน้าที่...แต่ไม่ลงมือทำหรือทำไม่ต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีให้เห็นมากมาย ซึ่งรากเหง้าสาเหตุของปัญหาเกิดจากความอ่อนแอของวินัยในตัวเองของคนๆ นั้น ทำให้พ่ายแพ้ต่อความขี้เกียจและมักง่ายบ่อยๆ จนก่อตัวเป็นนิสัยชอบผลัดวันประกันพรุ่ง ไม่ทำในสิ่งที่ควรทำหรือแม้ว่าจะเริ่มลงมือทำแล้วแต่ก็ไม่ทำให้เสร็จ หรือแม้ว่าจะทำเสร็จ แต่ก็เสร็จแบบขอไปที ไม่สำเร็จสมบูรณ์และไม่มีคุณภาพ ซึ่งคนที่มีลักษณะนิสัยเช่นนี้แก้ได้ยากที่สุด

   ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดในที่ทำงานส่วนใหญ่คือ พนักงานรู้ว่าตัวเองอยู่ในบทบาทตามตำแหน่งที่ได้รับการว่าจ้างก็จริง แต่กลับไม่รู้หน้าที่และวิธีการทำงานที่ชัดเจน รวมถึงไม่รู้ว่าความสำเร็จของผลงานที่องค์กรคาดหวังนั้นเป็นอย่างไร และที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นคือ คนที่เป็นหัวหน้าก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าหน้าที่และวิธีการทำงานที่ถูกต้องของลูกน้องของตนควรเป็นอย่างไรด้วยเช่นกัน

   ฉะนั้น การที่เราจะด่วนสรุปว่าใครมีความรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน ควรเริ่มต้นจากการให้ความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของเขาก่อน ให้เขารู้เป้าหมายความสำเร็จที่เราต้องการอย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็นเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ หรือเชิงกาลเวลาและ หัวหน้าที่ดีต้องชี้แจงให้ลูกน้องเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ถูกต้องอย่างละเอียดครบถ้วนโดยไม่ต้องคาดหวังให้เขาไปอ่านเอง เรียนรู้เอาเอง หลังจากนั้นจึงทำข้อตกลงร่วมกันในการปฏิบัติตามวิธีการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด หากไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติไม่ได้จะได้รับผลกระทบอย่างไร และหัวหน้าที่ดีต้องไม่ทำหน้าที่แค่ติดตามประเมินผล แต่ต้องคอยสอน คอยแนะนำและให้กำลังใจลูกน้องในระหว่างการปฏิบัติงานด้วย

   หากหัวหน้าปฏิบัติได้ครบถ้วนตามคำแนะนำข้างต้นและให้โอกาสลูกน้องแก้ไขปรับปรุงตามสมควรแล้ว ยังพบว่าไม่สามารถทำงานให้สำเร็จตามข้อตกลงได้ ค่อยสรุปว่าลูกน้องคนนั้นไม่มีความรับผิดชอบและต้องเชิญเขาออกไปจากทีมงานไปทันทีถ้าเราต้องการประสบความสำเร็จในการทำงานอย่างแท้จริง

 

ณัฐ นิวาตานนท์

กรรมการผู้จัดการ

บริษัท ดี.จี. ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

ผู้ขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตรายมืออาชีพ


บทความและสาระน่ารู้ในการปฏิบัติงานขนส่ง


ข่าวสารและกิจกรรม


ข้อคิดและหลักการบริหารเพื่อการพัฒนา


(คลิป) สาธิตขั้นตอนในการปฏิบัติงานขนส่ง


กฏหมายและข้อกำหนดของภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งวัตถุอันตราย


วิดีโอแนะนำบริษัท




บริษัท ดี.จี.ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
D.G. Trans International Co., Ltd.

ติดต่อเรา

Tel : 080-067-5236
E-mail : marketing@dgtrans.co.th

168/22 หมู่3 ต.ปากคลองบางปลากด อ.พระสมุทรเจดีย์
จ.สมุทรปราการ 10290
Copyright © 2017 All Rights Reserved. Designed By Golly-design