อุบัติเหตุเป็นศูนย์ หรือ Zero Accident เป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดที่ทุกองค์กรธุรกิจต้องการ เช่นเดียวกับธุรกิจขนส่งสินค้าประเภทวัตถุอันตรายของเรา วันนี้ ผมขอนำเรื่องนี้มาทบทวนและถือโอกาสย้ำเตือนให้พวกเราทุกคนมีความตระหนักและให้ความสำคัญกับการทำงานอย่างปลอดภัยเชิงป้องกันอันตรายหรือ Defensive Working for Zero Accident ให้มากขึ้น
อุบัติเหตุ หมายถึงเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม ชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน และผมเชื่อว่าอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นกับตัวเองแน่นอน ไม่นับคนที่ตั้งใจทำให้เกิดอุบัติเหตุเพื่อทำร้ายผู้อื่นที่เราเรียกว่า อาชญากร ฆาตรกร หรือผู้ก่อการร้าย และคนที่ตั้งใจทำร้ายตัวเองที่เรียกว่าการฆ่าตัวตาย
สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
ในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย เราจะมุ่งเน้นการศึกษาสาเหตุที่หลีกเลี่ยงได้เป็นหลักว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง ที่เราเรียกว่า ปัจจัยเสี่ยง สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่ การกระทำที่ไม่ปลอดภัยหรือต่ำกว่ามาตรฐาน และ สภาพการณ์ที่ไม่ปลอดภัยหรือต่ำกว่ามาตรฐาน เมื่อชี้บ่งปัจจัยเสี่ยงได้แล้วก็นำมาประเมินความเสี่ยงเพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการเชิงป้องกันหรือกำจัดให้หมดไปตามตารางประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment Matrix) ที่รวมเรียกว่า การบริหารความเสี่ยง ซึ่งเป็นกระบวนสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย Zero Accident
โดยธรรมชาติ การเรียนรู้ที่จะทำให้เราจดจำเป็นบทเรียนได้ดีมักเกิดจากความผิดพลาดมากกว่าความถูกต้อง แต่สำหรับในเรื่องอุบัติเหตุแล้ว เราควรฉลาดพอที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีตเพียงครั้งเดียว และถ้าจะให้ดีกว่านั้นควรเป็นการศึกษาจากบทเรียนความผิดพลาดรวมถึงความถูกต้องของคนอื่น เพราะอุบัติเหตุร้ายแรงเพียงครั้งเดียวอาจทำให้เราไม่มีโอกาสแก้ตัวได้อีกเลย
การตัดสินความรุนแรงของอุบัติเหตุจากผลกระทบต่อคน ต่อทรัพย์สิน ต่อสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชนและชื่อเสียงบางครั้งอาจเป็นภาพลวงตา เราต้องให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริง มุ่งเน้นที่พฤติกรรมเป็นสำคัญเพราะหลายครั้งที่อุบัติเหตุมีความรุนแรงน้อยเพราะมีโชคดีเข้ามาช่วย ทีมฉุกเฉิน ทีมสอบสวนและสืบค้นสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดอุบัติเหตุจึงไม่ควรมองข้ามจุดนี้ ให้ความสำคัญเท่าเทียมกันไม่ว่าความรุนแรงจะมากน้อยแค่ไหนก็ตาม มาตการแก้ไขและป้องกันที่ดีควรเน้นไปแก้ที่พฤติกรรมที่เป็นต้นเหตุที่แท้จริงของการเกิดเหตุนั้นเพราะอุบัติเหตุเปรียบเสมือนกรรมคือผลของการกระทำไม่ใช่แก้กรรมด้วยการไปทำบุญแต่การกระทำไม่เปลี่ยนแปลงย่อมไม่เกิดผลดีตามมา
ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะช่วยส่งเสริมค่านิยมการทำงานเชิงป้องกัน สร้างความตระหนักด้านความปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับพนักงานทุกคนคือ ผู้บริหารระดับสูงสุดต้องเป็นหัวรถจักรนำขบวนและมีผู้จัดการรวมถึงหัวหน้าสายงานเป็นเครือข่ายขับเคลื่อนให้เกิดค่านิยมร่วมดังกล่าวจนเป็นวัฒนธรรมองค์กรด้วยการปฏิบัติตัวเป็นต้นแบบ หรือ Role Model แสดงให้เห็นอย่างแท้จริงว่า ความปลอดภัยเป็นเป้าหมายสำคัญสูงสุดขององค์กร ไม่มองข้ามเมื่อเกิดปัญหาหรือความเสี่ยงแม้เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ
การเขียนนโยบายที่สวยหรู แต่ไม่มีแผนรองรับในการนำไปปฏิบัติที่ชัดเจนไม่ต่างอะไรกับการโฆษณาชวนเชื่อ ไม่มีพลังให้คนอยากทำตาม และการลงมือทำโดยขาดความเข้าใจ ขาดความเอาใจใส่ตรวจสอบ ประเมินผล ก็ให้ผลไม่แตกต่างกับการไม่ทำอะไรเลย
อุปสรรคสำคัญของการบรรลุเป้าหมาย Zero Accident คือ ความไม่รู้ ทั้งไม่รู้จริงๆ ทั้งประเภท ไม่มีความรู้และรู้ไม่จริง สามารถแก้ได้ถ้าหัวหน้างานใส่ใจอบรมสั่งสอนอย่างจริงจังและคนที่ไม่รู้ต้องอยากรู้ด้วย และประเภท ไม่รู้ไม่ชี้ ที่เกิดจากความไม่ใส่ใจ ขาดวินัย ผลัดวันประกันพรุ่ง ขี้เกียจ ประมาท รวมถึงการไม่รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองที่เรียกว่าขาดสติด้วย การไม่รู้ไม่ชี้เกิดได้ทั้งกับคนที่มีหน้าที่ปฏิบัติและคนที่มีหน้าที่ควบคุม ซึ่งจากประสบการณ์ของเราย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนอยู่แล้วว่าสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุที่ผ่านมาเกือบ 100% เกิดจากพฤติกรรมบกพร่องของคนและส่วนใหญ่เกิดจากหัวหน้างานละเลยปล่อยให้คนไม่รู้ทั้งสองประเภททำงานโดยไม่ใส่ใจ
เรามาช่วยกันฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสความไม่รู้กันดีกว่า เพื่อสร้างค่านิยมการทำงานอย่างปลอดภัยเชิงป้องกันให้เป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ชัดเจน เข้มแข็งและสัมผัสได้ เจ้าของธุรกิจของเรา ลูกค้าของเรา ครอบครัวของเรา สังคมของเราและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเราจะได้มีความสุข เป็นการสร้างรากฐานสำคัญให้องค์กรมีความมั่นคงและยั่งยืนอย่างแท้จริงครับ
ณัฐ นิวาตานนท์
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ดี.จี. ทรานส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด : ผู้ให้บริการขนส่งวัตถุอันตรายและเคมีภัณฑ์